กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – แม้แพทย์จะยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายป่วยมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น แต่สังคมส่วนใหญ่ยังตื่นกลัวและรังเกียจ ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างผู้รับเหมาในกรุงเทพฯ รายหนึ่ง ถูกห้ามเข้าไซต์งาน และถูกเบี้ยวเงินไปถึง 4 ล้าน ติดตามจากรายงานพิเศษ “เปิดประสบการณ์ชีวิตช่วงวิกฤตโควิด-19” วันนี้นำเสนอเป็นตอนสุดท้าย
“นักรบ สวัสดิบุตร” ผู้รับเหมา เพิ่งได้กลับเข้ามาดูแลไซต์งานก่อสร้างของตัวเอง หลังติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมานานกว่าครึ่งเดือน ระหว่างนั้นมีข่าวลือว่าเขาโดนจับตัวไปรักษาและเสียชีวิตอย่างทรมาน ยิ่งสร้างความแตกตื่นให้คนในชุมชน ไซต์งานทั้ง 5 แห่งต้องหยุดชะงัก ผู้ว่าจ้างรังเกียจ กลัวติดเชื้อโควิด ไล่เขาออกจากไซต์งาน และไม่ยอมจ่ายเงิน รวมเสียหายไปกว่า 4 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่คอนโดฯ มีแต่คนกลัว และพยายามขับไล่เขากับแฟนออกจากที่พัก
ไม่เพียงแต่ “นักรบ” เท่านั้นที่เดือดร้อน ผู้ค้าเกือบ 200 ร้าน ที่ตลาดหน้าวัดภาณุรังสี ซึ่งอยู่ใกล้กับไซต์งานของเขา ก็ถูกรังเกียจไปด้วย ไม่สามารถไปขายของที่ตลาดอื่นๆ ได้ เมื่อรู้ว่าตกเป็นจำเลยของสังคม นักรบพยายามลดกระแสความเกลียดชังด้วยการทำอาหารแจก และจัดหาตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 มาติดตั้งให้ชาวบ้านในชุมชน เขาทำแบบนี้อยู่นานเป็นเดือน กว่าที่ชาวบ้านจะยอมเปิดใจยอมรับเขามากขึ้น
ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกจำนวนไม่น้อยที่หายป่วยแล้ แต่ถูกสังคมไม่ยอมรับ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ขนาดผู้ป่วยหนักโควิดที่มีอาการปอดติดเชื้อรุนแรง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อรักษาหายแล้วปอดก็สามารถกลับมาทำงานได้ตามเดิม กลับไปใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่างๆ ได้ปกติเหมือนคนทั่วไป และมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
การมีข้อมูลข่าวสารเฝ้าระวังโควิดอย่างเข้มแข็ง จะเป็นเกราะป้องกันการรับเชื้ออันตรายได้ ขณะที่การรังเกียจและไม่ให้โอกาสผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วได้ใช้ชีวิตเป็นปกติ ในอนาคตโควิดอาจกลับมาเกิดในครอบครัวผู้ที่เคยรังเกียจผู้อื่นก็เป็นได้ ตราบใดที่สงครามโควิด-19 ยังไม่สงบ. – สำนักข่าวไทย