กทม. 27 ก.ย.- ตำรวจนักวิชาการ ชี้ ค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” เตะตัดขาลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. สะท้อนการเมืองในองค์กรตำรวจฝังรากลึกยาวนานกว่า 90 ปี ยกเป็นวาระแห่งชาติ “สะสางความมืดเทาในสีกากี”
เป็นกลายข่าวร้อนที่ดับทุกอุณหภูมิข่าวในช่วงนี้ หลังตำรวจไซเบอร์นำกำลังพร้อมอาวุธครบมือบุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เพื่อขอตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหา หลังพบหลักฐานเส้นทางการเงินเชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ สังคมจับตา เพราะมีชื่อของตำรวจ 8 นาย ทั้งสัญญาบัตรและชั้นประทวนรวมอยู่ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา “บิ๊กโจ๊ก”
สังคมตั้งคำถามเหตุใดจึงเปิดปฏิบัติการฟ้าผ่า!! บุกค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แคนดิเดตตัวเต็ง ลุ้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ก่อนจะมีการประชุม คณะข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.เพียง 2 วัน คือวันที่ 27 กันยายน 2566
กองบรรณาธิการวิทยุ สำนักข่าวไทย (TNA Radio)ไขข้อข้องใจจากปฏิบัติการครั้งนี้เกี่ยวข้องกับวาระการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่หรือไม่ จาก “ตำรวจนักวิชาการ” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล นักอาชญวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ได้รับคำตอบว่า เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ องค์กรตำรวจแน่นอน
การตรวจค้นสามารถทำได้บนหลักพื้นฐานของการมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน จนนำไปสู่การขอหมายค้นหรือหมายจับจากศาล แต่หาก ต้องการจับบุคคลตามหมายจับของศาลก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบ บังคับของศาลฎีกาด้วย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เช่น การเขียนอธิบายในคำขอว่า มีแนวทางการสืบสวนอย่างไร บ้านที่จะไปตรวจค้นเป็นบ้านใคร ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ใครเป็นผู้อยู่อาศัย หรือ เป็นผู้เช่า หากบ้านหลังนั้นไม่มีเลขที่ หรือ เลขที่บ้านไม่ชัดเจน ต้องแนบแผนที่แนบประกอบคำร้องด้วย โดยจะต้องมีหลักฐานชัดเจนแถลงต่อศาล
กรณีที่ชุดจับกุมอ้างว่าไม่ทราบว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พักอาศัยในบ้านหลังดังกล่าว รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่าตามหลักปฏิบัติการตรวจค้นจะต้องรู้ข้อมูลและแนวทาง การสืบสวนว่าบุคคลที่ต้องการจับเป็นใคร เคยก่อเหตุอะไร เช่น เคยก่อเหตุอุกฉกรรจ์คดีร้ายแรงหรือไม่ มีพฤติกรรมการ ก่อเหตุในอดีตเป็นอย่างไร เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะต้อง เตรียมการรับมืออย่างไรหากมีการต่อสู้กลับ และต้องประเมินว่า ผู้ต้องหามีอาวุธหรือไม่ เพื่อเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีความพร้อมรับมือ เช่น หน่วยคอมมานโด เป็นต้น
ซึ่งในกรณีการตรวจค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่เป็นถึง รอง ผบ.ตร. ตนไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพียงใด แต่มองว่า ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ทำงานเป็นมืออาชีพต้องทราบแน่นอน เพราะปกติฐานข้อมูลตำรวจจะเชื่อมกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ หากพบว่าข้อมูลไม่ตรง ต้องตรวจสอบต่อว่าใครเป็นคนอาศัย อยู่บ้านหลังนั้น สิ่งนี้เรียกว่า “แนวทางการสืบสวน”
เมื่อถามว่าจากการบุกค้นบ้านครั้งนี้เป็นการดับฝัน ทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ชวดเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14 หรือไม่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ ให้ความเห็นว่า ต้องไปดูแนวทางการพิจารณาของ ก.ตร.ว่าดูจากผลงานที่ผ่านมาหรือไม่ โดยตนมองว่าหากที่ผ่านมาข้าราชการคนนั้นทำความดีเป็นที่ ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน การถูกค้นบ้านเพียง 1 ครั้ง อาจถูกมองข้ามก็เป็นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้พิจารณาด้วย
อย่างไรก็ตาม หาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถเคลียร์ตัวเอง ได้ว่าโปร่งใส แม้จะผ่านพ้นการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไปแล้ว และไม่ได้รับตำแหน่งเพราะผลกระทบจากเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีเวลาพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับได้ เพราะยังเหลืออายุราชการ อีกหลายปี
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากย้อนไปในอดีต ประเด็นการเมืองในองค์กรตำรวจมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จากนั้นเป็นต้นมาการเมือง อยู่คู่กับตำรวจมาโดยตลอด ที่สำคัญคือการเมืองใช้ตำรวจ มาคงไว้ซึ่งอำนาจ
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นประธานการประชุม ก.ตร.ด้วย ต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการมอบนโยบายว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาล แต่ละยุคสมัยมีแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างกัน แต่ส่วนตัวเห็นว่า การแก้ปัญหาองค์กรตำรวจที่ถูกจุด และจะทำให้ประสบความสำเร็จ ได้ ต้องอาศัยนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน และมีเจตจำนง ทางการเมืองที่แน่วแน่ ขณะเดียวกันต้องอาศัยการขับเคลื่อน จากองค์กรตำรวจด้วย ที่สำคัญประชาชนต้องสนับสนุนให้เกิด การเปลี่ยนแปลง จึงอยากให้ใช้โอกาสนี้เสนอเป็นวาระแห่งชาติ “สะสางความมืดเทาขององค์กรตำรวจ” .-สำนักข่าวไทย