กาญจนบุรี 20 ม.ค.- ผู้ต้องหาคดีล่าเสือโคร่ง 2 ตัวในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ. กาญจนุบรีทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร้องเรียนที่กรมอุทยานฯ ขับไล่ออกจากอุทยานแห่งชาติเขาแหลมซึ่งพวกเขาทั้ง 5 ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น
หนังสือดังกล่าวส่งถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือเร่งด่วน ผู้ร้องคือ นายกูกือ ยินดี นายศุภชัย เจริญทรัพย์ นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์ นายจอแห่ง พนารักษ์ และนายโชเอ ไม่มีนามสกุลซึ่งทั้ง 5 คนถูกดำเนินคดีข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ครอบครองอาวุธปืน และนำวัวมาเลี้ยงในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
สำหรับใจความโดยสรุปในหนังสือระบุว่า พวกเขาเป็นเพียงเด็กเลี้ยงวัว-ควาย ไม่ใช่พรานใจโหด ยิงเสือโคร่งเพื่อป้องกันวัว-ควาย ทรัพย์สินที่เป็นรายได้หลักในการยังชีวิต และที่สำคัญนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาอนุรักษ์พื้นป่าและต้นน้ำ โดยหากสื่อมวลชนและสังคมจะให้ความเป็นธรรม มองในมุมกลับของชาวบ้านตาดำๆ จะเห็นว่า พวกเขาต้องเจอกับความไม่ยุติธรรม
สำหรับความเป็นอยู่ของชาวบ้านหมู่บ้านปิล๊อกคี่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีประชากร 2,638 คน 428 ครัวเรือน เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มอญ และคนไทยพื้นราบที่อพยพขึ้นมายังที่สูงซึ่งน้ำไม่ท่วมถึง เนื่องจากได้รับผลกระทบการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณหรือเขื่อนเขาแหลม ประกอบอาชีพเกษตรกร ลูกหลาน ออกไปทำงานในตัวเมืองใหญ่ๆ ที่นี่ “ไกลปืนเที่ยง”เดินทางลำบากทำให้ความเจริญยังเข้าถึงไม่มากพอ การกำหนดสถานะบุคคลที่มีการสำรวจตกหล่นทำให้บางคนไม่ได้รับสัญชาติไทย ที่ผ่านมาต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงกว่า 30 ตัวซึ่งประเมินมูลค่านับล้านบาท ขณะที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพียงปีละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องระดมกำลังมาปกป้องสัตว์เลี้ยง
ชุมชนนี้ต้องการความสงบ นำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ชาวบ้านพึ่งพาตนเองและแบ่งบันได้ ลูกหลานคนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาแปลงเกษตรให้มีผลผลิตมากขึ้น
ในหนังสือระบุรายละเอียดว่า ชาวบ้านกว่า 50 ครอบครัวเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก โดยจะเลี้ยงวัวและควายในทุ่งหญ้าริมขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนชิราลงกรณ พอหลังฤดูฝน น้ำในเขื่อนจะสูงท่วมพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ จะย้ายสัตว์ไปหากินในป่าบนภูเขาแทน จากการสำรวจของปศุสัตว์อำเภอ มีควายมากกว่า 1,500 ตัว วัวมากกว่า 1,100 ตัว ส่วนอาชีพรองของชาวบ้านคือ ทำไร่มันสำปะหลัง สวนเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปลูกผัก ข้าวไร่ และพืชผลการเกษตร ทั้งยังสร้างกระบวนการความเข้าใจระหว่างชาวบ้านและอุทยานแห่งชาติเขาแหลม หลังมีปัญหามายาวนานเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
จนกระทั่ง ประมาณเดือน ต.ค. 64 พบว่า วัว-ควายที่เลี้ยงไว้บนภูเขาถูกเสือกัดกินและสูญหายไปกว่า 30 ตัว และยิ่งดูเหมือนนับวัน เสือจะยิ่งรุกเข้ามาหากินใกล้หมู่บ้านมากขึ้นๆ ทุกที สร้างความหวาดผวาอย่างมาก เมื่อมีเสือจำนวนมากกว่าปกติเข้ามากินสัตว์เลี้ยง ชาวบ้านจึงต้องสร้างเถียงนาหรือกระต๊อบเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยในการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับสัตว์เลี้ยงในหลายจุดในป่าบนเขา จึงนำมาถึงเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องรักษาทรัพย์สินและชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งกำลังถูกตีค่าจากสังคมและสื่อมวลชนว่า เป็นความโหดร้ายป่าเถื่อน
เมื่อยิงเสือเพื่อป้องกันตัวเองและทรัพย์สินแล้ว ชาวบ้านนำเนื้อมาทำอาหารกิน เพื่อไม่ให้เสือตายของเปล่า ขณะนี้ผู้กระทำผิดมอบตัวรับสารภาพ รอวันติดคุก แต่เมื่อวันที่ 18 ม.ค. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมนำประกาศตามมติครม. 30 มิ.ย. 41 ไปติดเพื่อขับไล่พวกเขาและครอบครัวให้ออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ทั้งที่ตามหลักกฎหมายพวกเขารอคำพิพากษาของศาลซึ่งเป็นไปตามความผิดเฉพาะตัว แต่ลูกเมีย พ่อแม่ ญาติพี่น้องไม่ได้กระทำความผิดด้วย แต่ถูกสั่งให้รื้อบ้านย้ายออกจากที่ทำกินซึ่งอยู่อาศัยมาแต่เกิดภายใน 30 วัน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากเขตอุทยานฯ ตามที่เขาตั้งใจ
ทั้งนี้สัตว์ป่าจากเขตเมียนมาหนีเสียงปืนเสียงระเบิดดังอยู่อย่างต่อเนื่องจากการสู้รบในประเทศเมียนมาเข้ามายังป่าฝั่งไทย จึงอันตรายต่อชีวิตและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หากช้างป่ามากินพืชไร่ จะใช้ประทัดจุดขับไล่ แต่การป้องกันตัวจากเสือกลับถูกดำเนินคดีติดคุกและไล่ที่อยู่อาศัยที่ทำกิน
ดังนั้นจึงขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อช่วยหาทางออกในการดำเนินชีวิตของพวกเขาและชาวบ้านต่อไป ลงวันที่ในหนังสือ 19 มกราคม 2565.-สำนักข่าวไทย