เร่งแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ

กรุงเทพฯ  7 ต.ค. – รมว.ทส.สั่งด่วน ทช.แก้ปัญหาชายหาดพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ถูกกัดเซาะ ย้ำรักษาระบบนิเวศและโบราณสถานอันทรงคุณค่า มอบหมายให้ศึกษาแนวทางแก้ไขตามหลักวิชาการ คาดเสร็จ มี.ค.64


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เดินทางไปตรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยกล่าวว่า กังวลอย่างมากเนื่องจากเป็นโบราณสถานมีสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ขณะนี้มีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง  5 ประเภท ทั้งเขื่อนกันทรายและคลื่น 2 ตัว เขื่อนป้องกันนอกชายฝั่งแบบใต้น้ำ รอดักทราย และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดความยาวกว่า 2,500 เมตร แม้เจตนารมณ์ของหน่วยงานที่ก่อสร้างมุ่งจะแก้ปัญหา แต่โครงสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ จึงสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแก้ไขอย่างถูกหลักวิชาการ

ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการต่าง ๆ ต้องนำมาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักวิชาการจากคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทาง ทส. แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แต่บางพื้นที่ยังมีผลกระทบรวม 89 กิโลเมตร ซึ่งต้องบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน


นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า โครงสร้างต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งและนอกชายฝั่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ก่อสร้างโดยส่วนราชการอื่นปี 2549 เสร็จปี 2551 ภายหลังจากการก่อสร้างส่งผลกระทบต่อชายฝั่งบริเวณหน้าวัดไทรย้อยและหน้าโรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะทำให้บริเวณโดยรอบบดบังทัศนียภาพและกีดขวางการเดินเรือ จึงให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งรัดดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทช.ว่าจ้างมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านบาท เริ่มลงนามในสัญญาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา และมีกำหนดศึกษาเสร็จภายในวันที่ 27 มีนาคม 2564 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญให้กำกับโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษา เพื่อจัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดให้สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างละเอียด รอบคอบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย โดยมุ่งเน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติและความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหา.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ค่าฝุ่นกทม.

กทม. เช้านี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 54 พื้นที่

กรุงเทพฯ เช้านี้ พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 54 พื้นที่ แนะสวมกากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.