กรุงเทพฯ 1 เม.ย. – อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชื่อความรู้สึกสั่นไหวที่ผู้อยู่ในตึกสูงหลายอาคารรู้สึกวานนี้ ไม่ได้มาจาก Aftershock ชี้อาคารใน กทม. ผ่านบททดสอบครั้งใหญ่ สอบตกเพียงตึก สตง.แห่งเดียว จากนี้เป็นช่วงเวลาเรียนรู้และปรับตัว
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้ผู้คนย่อมยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวกันอยู่ เนื่องจากเป็นการเผชิญกับแรงสั่นไหวที่รุนแรง โดยเป็นขนาดรุนแรงที่สุดที่เคยมีบันทึกมาของประเทศไทย
นับจากที่เกิดแผ่นดินไหวหลักในกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ยังคงมี Aftershock ต่อเนื่อง แต่ลดขนาดลงตามเวลาที่ผ่านไป ส่วนที่มีผู้อยู่อาศัยและทำงานบนอาคารสูงรู้สึกถึงความสั่นไหว โดยกังวลว่า เป็นผลมาจาก Aftershock นั้น อาจารย์สุทธิศักดิ์ ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากเป็น Aftershock ขนาดประมาณ 3 โดยมาจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกายที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,000 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้เกิด Aftershock ขนาด 4 – 5 เรายังไม่รู้สึกเลย

สำหรับข้อกังวลว่า แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างจนทำให้อาคารอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนหรือไม่นั้น อาจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ แต่ต้องมาจากการพบโครงสร้างหลักของอาคาร เช่น เสาและคานเสียหาย ส่วนการพบฝ้าหลุดหรือผนังร้าว เป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของวิศวกร อาคารสูงในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมาถือว่า สอบผ่าน ยกเว้นเพียงอาคาร สตง. แห่งเดียวที่ถล่ม ซึ่งต้องสืบสวนหาสาเหตุกันต่อไป
อาจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลักของการก่อสร้างอาคารคือ เรายอมให้สั่นไหวได้บ้าง การสั่นไหวเล็กน้อยถือว่า โครงสร้างมีความยืดหยุ่น ดีกว่าอาคารที่แข็งเกร็งซึ่งอันตรายกว่าเพราะถ้าเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนจะถล่มอย่างรวดเร็ว จากนี้ไปเป็นช่วงเวลาปรับตัวว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ การสร้างความเข้าใจจะช่วยลดความวิตกกังวลและเพิ่มความปลอดภัยในกรณีที่เกิดสถานการณ์ ถ้าเรียนรู้และเข้าใจก็จะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้. -512-สำนักข่าวไทย