กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – “ประเสริฐ” รองนายกฯ และ รมว.ดีอี ประชุมกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 69 เห็นชอบแผนบูรณาการด้านน้ำ มอบ 18 หน่วยงาน เร่งขับเคลื่อนความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติ ตามเป้าแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ฃ2569 คณะที่ 6.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ชั้น 10 อาคารสำนักงานใหญ่ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้หน่วยรับงบประมาณ อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อวางแผนการใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่ามากที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การดำเนินงานตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 รวมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่ดำเนินการโดย 18 หน่วยงาน 6 กระทรวง จำนวน 14,036 รายการ วงเงินกว่า 244,700 ล้านบาท
การประชุมในวันนี้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยต้องจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดเป็นแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค น้ำท่วม – น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำในเชิงพื้นที่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำได้ครบทุกมิติ ตามเป้าหมายของรัฐบาลในการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ด้านเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สทนช. ได้วิเคราะห์กลั่นกรองแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อม จำนวน 53,969 รายการ วงเงินกว่า 420,800 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม กนช. เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาสู่การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกรอบการจัดทำแผนงาน โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่มีเป้าหมายร่วมและเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า 1 หน่วยงาน โดยลักษณะการบูรณาการพิจารณาใน 2 รูปแบบ คือ 1) การบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Based) เป็นแผนงานโครงการที่แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในพื้นที่ 22 ลุ่มน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ด้าน และ 2) การบูรณาการงาน (Project Based) เป็นแผนงานโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรม ผู้รับผิดชอบ และกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน
“ในส่วน (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่ดำเนินการโดย 18 หน่วยงาน 6 กระทรวง จำนวน 14,036 รายการ วงเงินกว่า 244,700 ล้านบาท นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาจัดกลุ่มแผนงานและลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์การพิจารณาและสอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพื่อเพิ่มความจุกักเก็บน้ำ 1,036.01 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 3,327,334 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 2,325,109 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 1,955,613 ครัวเรือน ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานส่งคำขอตั้งงบประมาณ เหตุผลความจำเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 31 มกราคมนี้ ตามปฏิทินงบประมาณต่อไป. – 512-สำนักข่าวไทย