กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – กรมลดโลกร้อนร่วมกับธปท. และ ก.ล.ต. เชิญชวนแสดงความคิดเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและภาครัฐมีมาตรฐานเดียวกันในการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อ ทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการจัดสรรเงินทุนการบริหารจัดการ ความเสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ถึง 10 ม.ค. 2568
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ในฐานะคณะทำงานมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้จัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 โดยขยายให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจสำคัญและมิติของวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและภาครัฐมีมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเป็นแนวทางอ้างอิงในการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับสากลและเหมาะสมกับบริบทของไทย อีกทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการจัดสรรเงินทุนการบริหารจัดการ ความเสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ได้จำแนกกลุ่มกิจกรรมภาคเศรษฐกิจ ดังนี้
- สาขาเกษตร
- อาคารและอสังหาริมทรัพย์
- อุตสาหกรรมการผลิต
- การจัดการของเสีย
ทั้งนี้ได้เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2568 โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือที่ลิงค์ https://www.dcce.go.th/news/project.aspx?p=2161
ดร. พิรุณกล่าวว่า ล่าสุดกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 ของประเทศไทย (Thailand’s First Biennial Transparency Report : BTR1) ไปยังสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
ทั้งนี้ รายงาน BTR1 ของประเทศไทย มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1) สภาวการณ์ของประเทศ
2) บัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยนำเสนอปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2022 ซึ่งปี ค.ศ. 2022 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวม 278,039.73 ktCO2eq (รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) และมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 385,941.14 ktCO2eq (ไม่รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน)
3) ความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDC ในปี ค.ศ. 2021 – 2022 ประเทศไทยมีการลดก๊าซเรือนกระจก รวม 60.33 MtCO2eq และ 65.23 MtCO2eq ตามลำดับ สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม NDC ภายใต้มาตรา 4 ของความตกลงปารีส ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ร้อยละ 30.46 เมื่อเทียบกับ BAU และการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศทั้งสิ้น 1,916 tCO2eq ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ
4) ผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนำร่องด้านการปรับตัว 6 สาขา จำนวน 6 จังหวัด แ
5) การเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และข้อจำกัด ช่องว่าง ความต้องการและการสนับสนุนที่ได้รับ วงเงินประมาณ 38,668.47 ล้านบาท หรือ 1,102.92 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
การส่งรายงานความโปร่งใสต่อสำนักเลขาธิการ UNFCCC มีวัตถุประสงคเพื่อสื่อสารความคืบหน้า ผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไปสู่ประชาคมโลก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยี องค์ความรู้ และแหล่งเงินทุนต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายของประเทศ .512 – สำนักข่าวไทย