กรุงเทพฯ 30 ธ.ค. – กรมอุทยานฯ ชี้จำเป็นต้องควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิดเพื่อป้องกันความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกันยังเป็นการป้องกันช้างที่ออกนอกป่าถูกทำร้าย ย้ำดำเนินหลายมาตรการควบคู่กันไป สำหรับวัคซีนมีการใช้ในทวีปแอฟริกามานาน โดยเป็นวัคซีนที่ฉีดในช้างเพศเมีย 1 เข็มมีประสิทธิผลนาน 7 ปีและไม่มีผลข้างเคียง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชออกแถลงการณ์ด่วนในวันนี้ (30 ธันวาคม 2567) ถึงกรณีการควบคุมประชากรช้างป่าโดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลกรณีการดำเนินโครงการควบคุมประชากรช้างป่าโดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด อันเป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว และอาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเกิดความสับสน มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมได้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอเรียนให้ทราบว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันและมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาคนกับช้างป่าเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่กว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียกระทั่งบาดเจ็บ เสียชีวิตทั้งคนและช้างป่าเป็นจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน มีรายงานประชาชนเสียชีวิตจากช้างป่า 240 ราย ได้รับบาดเจ็บ 208 ราย และยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและพืชผลของประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาและได้จัดตั้ง “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการงานด้านการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างป่าให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอนุรักษ์และจัดการช้างในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีระบบ เหมาะสม และยั่งยืน ประกอบด้วย
- 1) การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า
- 2) แนวป้องกันช้างป่า
- 3) ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน
- 4) การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
- 5) การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน
- 6) การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน สภาผู้แทนราษฎร ยังได้เสนอให้ใช้วัคซีนในการคุมกำเนิดช้างป่า เพื่อเป็นทางเลือกในการควบคุมจำนวนประชากรช้างป่า และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับช้างป่า
การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้มอบหมายและสั่งการให้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการเร็ที่สุดซึ่งเป็นความพยายามและมุ่งมั่นต่อสังคมในการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
การดำเนินโครงการนี้เป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์ประชากรช้างป่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ที่ถิ่นอาศัยไม่สามารถรองรับประชากรดังกล่าวได้แล้ว โดยปัจจุบันพบว่ามีช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 4,013 – 4,422 ตัว ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากช้างป่าทั้งสิ้น 71 แห่ง การจัดการประชากรโดยการควบคุมประชากรช้างจึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่มีความจำเป็น เพื่อเป็นการวางแผนรองรับการจัดการประชากรช้างป่าในอนาคต ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่า โดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® ซึ่งมีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้ว
โครงการทดลองฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างเพศเมียเต็มวัย 7 เชือก ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน โดยวัคซีน 1 เข็มจะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปีและวัคซีนไม่มีผลต่อพฤติกรรมและสรีระของช้าง เป็นเพียงควบคุมฮอร์โมนช้างเพศเมียไม่ให้มีลูก ผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีนพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ วัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้าง และพฤติกรรมทางสังคมของช้างป่า จึงได้มีโครงการนำร่องเพื่อขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่า
การดำเนินการควบคุมประชากรช้างป่าโดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด มีเป้าหมายดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรช้างป่ามากจนเกินศักยภาพของพื้นที่อนุรักษ์และขนาดของพื้นที่ป่าจะรองรับได้ เช่น ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรช้างป่าที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุดและกำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงมากจากการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์
พร้อมกันนี้ยืนยันว่า การควบคุมประชากรช้างป่าโดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม มีแผนดำเนินงานที่รัดกุม ผ่านการศึกษาวิจัยที่มีการทดสอบ ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ตามหลักทางวิชาการและเทคนิคการสัตวแพทย์ มีการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งการศึกษาจำนวน โครงสร้างชั้นอายุ สัดส่วนเพศของประชากรช้างป่าในพื้นที่อย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ ตลอดจนการจำแนกตัวและทำอัตลักษณ์ช้างป่าแต่ละตัวในแต่ละฝูง แนวทางการติดตามช้างป่าโดยการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ติดตามตัว การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน
การดำเนินโครงการนี้จะเป็นแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่า และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า และให้ทุกภาคส่วนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในดูแล เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป . 512 – สำนักข่าวไทย