กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – กรมอุตุนิยมวิทยาระบุ พายุดีเปรสชันในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “จ่ามี (TRAMI)” แล้ว คาดขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ 24 – 25 ต.ค. นี้ แล้วเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามในระยะต่อไป อาจส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีลมแรง ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามันมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า พายุดีเปรสชันในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “จ่ามี (TRAMI)” แล้ว โดยคำว่า “จ่ามี (TRAMI)” หมายถึง ชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งในสกุลดอกกุหลาบ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งเป็นพายุลูกที่ 20 จากการนับจำนวนพายุของศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค ( RSMC) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พายุลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก พายุนี้ยังอยู่ห่างจากประเทศ คาดว่า จะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงวันที่ 24- 25 ต.ค. 2567 ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน แล้วเคลื่อนไปทางตะวันออกของประเทศจีน เข้าใกล้เกาะไหหลำ และชานฝั่งประเทศเวียดนาม ในระยะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับสภาพอากาศประเทศไทยช แต่ยังต้องติดตามในช่วงวันที่ 26 -27 ต.ค. 2567 เมื่อพายุเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามซึ่งอาจจะมีผลกระทบทางตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ โดยทำให้มีลมแรงเนื่องจากมีมวลอากาศเย็นอยู่ด้านหน้าของพายุ แผ่ลงมาปกคลุม ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามันยังมีลมตะวันตกพัดเข้าสู่พายุโซนร้อน “จ่ามี (TRAMI) “บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่อง โดยเป็นฝนฟ้าคะนองปานกลางถึงหนักบางแห่งจึงต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้เตือนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ขอให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้
ในวันนี้ยังต้องเฝ้าระวังสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงแรกๆ ที่มีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมยังพาดผ่านภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมกทม. – ปริมณฑล ตลอดจนภาคใต้ตอนบนยังมีฝนและฝนฟ้าคะนอง ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนปานกลางและตกหนักบางแห่ง ขอให้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
จากนั้นช่วง 23 – 25 ต.ค. 67 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง อากาศจะเริ่มเย็นลง ลมทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม ส่วนบริเวณภาคใต้ต้องเฝ้าระวังฝน โดยเฉพาะฝั่งอันดามันได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่เนื่องจากลมตะวันตกพัดเข้าสู่พายุโซนร้อน “จ่ามี(TRAMI)” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนดังกล่าว. 512 – สำนักข่าวไทย