กรุงเทพฯ 24 ก.ย. – สทนช.ระบุฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาหลายสายเสี่ยงล้นตลิ่ง โดยฝนตกหนักตั้งแต่ปลายสัปดาห์แล้วจากอิทธิพลของพายุซูลิก ต่อเนื่องด้วยร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรง แต่น้ำเหนือที่จะไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จะไม่ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างฉับพลันจึงขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนกว่า จะเกิดอุทกภัยรุนแรง
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว จากอิทธิพลของพายุซูลิก ส่วนระยะนี้ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรงและมีแนวสอบของลมบริเวณอ่าวไทยทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกมีฝนตกต่อเนื่อง
วานนี้ฝนที่ตกหนักในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย วัดปริมาณฝน 24 ชั่วโมง ได้มากถึง 160 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำจะไหลตามลำน้ำแม่ลาว คาดว่าจะมีน้ำล้นตลิ่งในอำเภอแม่สรวยประมาณ 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร แล้วไหลต่อไปยังอำเภอเมืองเชียงรายซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในตัวเมืองเชียงรายปริ่มตลิ่ง โดยอาจล้นตลิ่งเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป สทนช. แจ้งเตือนไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้แจ้งจังหวัดเชียงรายเพื่อแจ้งเตือนประชาชนแล้ว
ที่ลุ่มน้ำวัง มีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนกิ่วลมและกิ่วคอหมาซึ่งมีน้ำมากออกมาสมทบ สทนช. คาดว่าจะมีน้ำล้นตลิ่งที่อำเมืองลำปางซึ่งได้แจ้งปภ. และคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยด้วยแล้ว น้ำจะไหลต่อไปยังอำเภอเถินซึ่งคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 จะมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำประมาณ 20 – 50 เซนติเมตร ส่วนที่จังหวัดตาก คาดการณ์ว่า จะน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำในอำเภอสามเงาประมาณ 1.0 – 1.3 ม. ในช่วงวันที่ 24 กันยายน – 3 ตุลาคม 2567
ส่วนที่ลุ่มน้ำน่าน คาดว่าจะมีน้ำล้นตลิ่งที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่านในอีก 2 – 3 วันนี้ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในแม่น้ำน่านจะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งขณะนี้ยังสามารถรองรับได้อยู่ แต่คาดว่าจะทำให้เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 90% ของความจุ
สำหรับลุ่มน้ำยม คาดว่า ในระยะ 7 วันนี้จะมีน้ำล้นตลิ่งในจังหวัดแพร่ตั้งแต่อำเภอสอง อำเภอเมืองแพร่ และอำเภอวังชิ้นประมาณ 1.50 – 2.00 เมตร น้ำในแม่น้ำยมจะไหลต่อเนื่องผ่านจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกตามลำดับ คาดว่าสถานการณ์น้ำจะใกล้เคียงกับที่เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำยมเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัยประมาณ 1,800 ลบ.ม./วินาทีจึงจะใช้ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ผันน้ำเพื่อแบ่งน้ำเข้าคลองหกบาท แม่น้ำยมสายเก่า และคลองยม-น่าน นอกจากนี้สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผันน้ำเข้าแก้มลิงทุ่งบางระกำที่สามารถรับน้ำได้อีก 50% และรับน้ำเข้าทุ่งทะเลหลวงเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย ไม่ให้เกินความจุลำน้ำ ตลอดจนเป็นการแบ่งน้ำที่จะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา โดยให้ทยอยไหลลงมา
อีกกลุ่มน้ำที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดคือ ลุ่มน้ำป่าสัก คาดการณ์ว่า ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จะเกิดน้ำไหลหลากและล้นตลิ่งประมาณ 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร ภาคตะวันออกต้องเฝ้าระวังที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด น้ำแม่น้ำเขาสมิงจะล้นตลิ่งประมาณ 50 เซนติเมตร
นายฐนโรจน์ กล่าวย้ำว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ความจุลำน้ำ 3,660 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,470 ลบ.ม./วินาที คิดเป็น 40% ของความจุลำน้ำ คาดว่า ในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำจะอยู่ในช่วง 1,661 – 2,046 ลบ.ม./วินาที คิดเป็น 45 – 56% ของความจุลำน้ำ กรมชลประทานแจ้งมายังสทนช. ว่า จะทยอยปรับการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับทั้งน้ำเหนือและฝนที่ตกในพื้นที่ จากที่ระบายวันนี้ในอัตรา 1,049 ลบ.ม./วินาทีและจะปรับเป็น 1,100 ลบ.ม. /วินาที แล้วคงอัตราต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้กรมชลประทานพร่องน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงอีก 1 เมตรเพื่อรองรับน้ำระลอกใหม่ พร้อมกับแบ่งเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวาด้วย เมื่อติดตามปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.29A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากความจุลำน้ำ 3,500 ลบ.ม./วินาที พบว่า วันนี้อยู่ที่อัตรา 1,521 ลบ.ม./วินาที คิดเป็น 43% ของความจุลำน้ำ ดังนั้นจะมีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ประชาชนจึงไม่ต้องเป็นกังวลว่า พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างจะเกิดอุทกภัย
สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันพบใน 9 จังหวัดได้แก่
- จังหวัดเชียงรายที่อำเภอแม่สาย เวียงป่าเป้า และเมืองเชียงราย
- จังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอแม่ริม
- จังหวัดน่านที่อำเภอนาน้อย นาหมื่น และเวียงสา
- จังหวัดลำปางที่อำเภองาว เมืองลำปาง เกาะคา ห้างฉัตร แม่พริก สบปราบ เถิน แม่เมาะ และวังเหนือ
- จังหวัดแพร่ที่อำเภอลองและวังชิ้น
- จังหวัดพิษณุโลกที่อำเภอพรหมพิราม บางระกำ และเมืองพิษณุโลก
- จังหวัดเลยที่อำเภอเมืองเลย
- จังหวัดหนองคายที่อำเภอศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองหนองคาย และโพนพิสัย
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่อำเภอบางบาล บางปะอิน ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา เสนา และบางไทร
ส่วนผลการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วันในช่วงวันที่ 24 – 26 กันยายน 2567 สทนช. พบพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัด ได้แก่
- ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดลำปาง ที่อำเภอสบปราบและเมืองปาน จังหวัดพะเยา ที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดแพร่ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดพิษณุโลกที่อำเภอนครไทย วังทอง และเนินมะปราง และจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อำเภอเขาค้อ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนม ที่อำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร ที่อำเภอเต่างอย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อำเภอนาคู และจังหวัดอุบลราชธานี ที่อำเภอน้ำยืน
- ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ที่อำเภอนาดี และจังหวัดตราด ที่อำเภอบ่อไร่
- ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่อำเภอพระแสง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดสตูลที่อำเภอควนโดน และจังหวัดยะลาที่อำเภอเบตง
ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความรับมือสถานการณ์ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว. -512 – สำนักข่าวไทย