กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – กรมชลประทานเตรียมแผนรองรับสถานการณ์พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกช่วงปลายฤดูฝน ปกป้องพื้นที่ กทม.ด้านสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุช่วงนี้มีการระบายน้ำเหนือลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ขณะที่เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง แต่มั่นใจว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นจะไม่เกิดแนวป้องกันน้ำของ กทม. โดยอาจมีน้ำเอ่อล้นบางพื้นที่บริเวณ “จุดฟันหลอ” ซึ่งได้เสริมกระสอบทรายเพื่อป้องกันและลดผลกระทบแล้ว
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเพื่อป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้วางแผนรับน้ำจากทางตอนบนเข้าคลองเหนือ-ใต้ ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลองระบายน้ำ 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิต แล้วระบายลงสู่คลองชายทะเล จากนั้นสูบน้ำออกสู่อ่าวไทย ตลอดจนมีมาตรการตัดยอดน้ำทางแนวคลองออก-ตก ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวา และคลองบางขนาก ซึ่งจะระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง แล้วออกสู่ทะเลต่อไป
หากมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแผนระบายน้ำผ่านสถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำหนองจอก สถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ ลงคลองพระองค์ไชยานุชิตที่ระบายลงสู่คลองชายทะเล จากนั้นสูบน้ำออกสู่อ่าวไทย โดยก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้พร่องน้ำนอกเขตกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมรองรับน้ำที่จะระบายออกจากกรุงเทพฯ กรณีฝนตกในพื้นที่แล้ว ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนได้
ส่วนการแก้ปัญหาพนังคอนกรีตริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัวบริเวณปากคลองบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ในระยะเร่งด่วนกรมชลประทานก่อสร้างทำนบดิน ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้ยูคาเชื่อมระหว่างประตูระบายน้ำคลองบางกรวยและถนนหมู่บ้านเป็นระยะทาง 160 เมตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า ทำนบดินดังกล่าวมีความมั่นคงแข็งแรงและป้องกันน้ำในฤดูฝนปี 2567 ได้ อีกทั้งยังสามารถเสริมระดับดินเพิ่มเติมกรณีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนคลายกังวลในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วม ส่วนการแก้ไขปัญหาอย่างถาวรอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกแบบเพื่อก่อสร้างในปี 2568 นี้
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครกล่าวว่า วันนี้ (2 ก.ย.) ซึ่งคาดการณ์ว่า น้ำเหนือที่หลากท่วมในลุ่มน้ำยมจะทยอยเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ แต่กรมชลประทานได้บริหารจัดการด้วยการแบ่งเข้าทุ่งรับน้ำบางระกำ เมื่อไหลลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาได้ผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและตะวันตกเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ดังนั้นน้ำที่ไหลมาถึงกรุงเทพฯ จึงทยอยไหลมา
แม้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะออกประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจนถึงวันที่ 5 กันยายน แต่ประเมินว่า ระดับน้ำยังต่ำกว่าแนวป้องกัน โดยระดับน้ำคาดการณ์วันนี้ สูงสุดในเวลา 18.38 น. ที่ 1.29 เมตร รทก. ส่วนน้ำเหนือที่ไหลลงมาจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอีกไม่เกิน 50 เซนติเมตร ดังนั้นระดับน้ำของกรุงเทพฯ จึงจะอยู่ที่ประมาณ 1.89 เมตร รทก. ขณะที่แนวป้องกันสูง 2.8 – 3.5 เมตร รทก. จึงมั่นใจว่า กรุงเทพมหานครจะปลอดภัย ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล โดยอาจมีผลกระทบบ้างบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกัน หรือ “จุดฟันหลอ” ซึ่งได้เรียงกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบแล้ว
สำหรับความยาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระ และคลองพระโขนงรวม 88 กิโลเมตร มีแนวป้องกันน้ำแล้ว 80 กิโลเมตร นอกจากนี้เป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชนและส่วนราชการ 3.65 กิโลเมตร เหลือประมาณ 4.35 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีแนวป้องกันน้ำ รวม 120 จุดซึ่งกรุงเทพมหานครเข้าดำเนินการจัดทำแนวป้องกันน้ำถาวรแล้ว 64 จุด
ในฤดูฝนนี้ กรุงเทพมหานครเตรียมกระสอบทรายไว้ 1.5 ล้านใบ สำนักการระบายน้ำจะใช้เพื่อเรียงเป็นแนวป้องกันชั่วคราว 2.5 แสนใบ เหลือ 1.25 ล้านใบจะกระจายไปตามสำนักงานเขตต่างๆ กรณีฝนตก แล้วระดับน้ำริมแม่น้ำและคลองต่างๆ เอ่อสูงขึ้น โดยเริ่มทำแนวป้องกันน้ำชั่วคราวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 40 ซึ่งจะเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุด. -512 – สำนักข่าวไทย