กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุ กวางที่หลุดลงถนนและถูกรถชน เป็น “กวางดาว” ซึ่งไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่ต้องขออนุญาตเพาะเลี้ยง แต่หากเป็นกวางป่า (Sambar deer) ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หากเพาะเลี้ยง โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุถึงข่าวกวางที่หลุดออกสู่ถนนและถูกรถชนตาย บริเวณถนนชัยพฤกษ์ ฝั่งขาออก อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีเป็นกวางดาวซึ่งไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการเพาะเลี้ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมทีการนำเข้าและส่งออก “กวางดาว” ต้องขออนุญาตจากกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (CITES) กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อมาพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้และมีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565 โดยกวางดาวไม่ได้บรรรจุเป็นสัตว์ควบคุมตามประกาศ ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต CITES ในการนำเข้าและส่งออก แต่อาจต้องมีเอกสารอื่นๆ เช่น ใบรับรองสุขภาพสัตว์ ประกอบการนำเข้าและส่งออก
สาเหตุที่ไม่ได้บรรจุ “กวางดาว” ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมสืบเนื่องจากเป็นสัตว์ต่างประเทศที่นำเข้ามานานมากแล้ว อีกทั้งไม่ใช่สัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองของไทยที่ต้องมีกฎหมายดูแล โดยในต่างประเทศกวางดาวเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากและหลายประเทศไม่ได้มีการควบคุมเช่นกัน
สำหรับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ที่กำหนดตามมาตรา 17 โดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี และมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
ปัจจุบันมีกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ โดยกวางซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์คือ กวางป่าหรือกวางม้า (Sambar deer) รวมถึงกระจงเล็ก เก้งหรือฟาน และเนื้อทราย ตลอดจนสัตว์อื่นๆ รวม 49 ชนิด
หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใช้ในกิจการเพาะพันธุ์ได้แก่
– ต้องเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่จะอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้
– ต้องมีหลักฐานการได้มาหรือการครอบครองหรือระบุว่าจะได้มาจากที่ใด
สัตว์ป่าคุ้มครองที่ใช้ในกิจการเพาะพันธุ์ต้องได้มาจาก
- ครอบครองสัตว์ป่าโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน พ.ศ. 2535
- ครอบครองอยู่ก่อน มีกฎกระทรวงใหม่กาหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
- ได้มาจากทางราชการจัดหาให้เพื่อใช้ในกิจการเพาะพันธุ์ (ตามมาตรา 26)
- ได้มาจากผู้เลิกกิจการสวนสัตว์สาธารณะหรือกิจการเพาะพันธุ์
ผู้ที่จะประกอบกิจการเพาะพันธุ์ต้องดำเนินการขออนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. การเพาะพันธุ์สัตว์ป่าในเขตกรุงเทพมหานคร ติดต่อที่ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. การเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ในท้องที่จังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร ติดต่อที่สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สาขา แห่งท้องที่
ในประเทศไทยมีการทำฟาร์มกวางเพื่อการค้ามาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อที่มีคุณภาพดี มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ คลอเรสเตอรอลต่ำ มีกรดไขมันชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณค่อนข้างสูง หนังกวางได้รับความนิยมในการทำเครื่องหนังอย่างมากเพราะมีความนุ่มและยืดหยุ่นได้ดี ส่วนกระดูก เอ็น ต่อมต่างๆ ซาก และเขากวางอ่อนสามารถใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องยา
ทั้งนี้สายพันธุ์กวางที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งนิยมเลี้ยงกันทั่วโลกเช่น กวางแดง กวางฟอลโล กวางปิติ กวางมักส์ กวางรูซา และกวางเรนเดียร์ เป็นต้น . 512 – สำนักข่าวไทย