กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – กรมชลฯ วางแผนปรับลดการระบายน้ำ เนื่องจากสถานการณ์ฝนเริ่มคลี่คลาย ย้ำแนวทางบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง 4 ด้านคือ น้ำในพื้นที่ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน การรับส่งน้ำระหว่างพื้นที่เชื่อมต่อต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยขณะนี้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว ส่วนลำน้ำชี-มูล จะคลี่คลายต้นเดือน พ.ย.นี้
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลักได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำยม แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ แต่มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานจึงพิจารณาปรับลดการระบายน้ำตามความเหมาะสม โดยที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,960 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเริ่มทรงตัว จากนั้นผันน้ำเข้าระบบชลประทานด้านซ้ายและขวาตามศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนและเพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ พร้อมพิจารณาปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยวันนี้ระบายที่ 1,650 ลบ.ม./วินาที ซึ่งลดลงจากวานนี้ที่ 1,800 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 58,298 ล้าน ลบ.ม. (76% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 16,223 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)
ส่วนลุ่มน้ำชีที่ยังมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องนั้น ทางคณะกรรมการลุ่มน้ำชี จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่เกณฑ์ควบคุม ด้านลำน้ำยัง ปริมาณน้ำแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ E.92 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ได้ยกบานระบายของเขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อยจนพ้นน้ำทั้ง 6 เขื่อน แต่บริเวณลุ่มน้ำชีตอนล่างที่ จ.ยโสธร ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำชีที่ อ.เมืองยโสธร และ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ส่วนเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 2,066 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 104% ของความจุฯ อ่าง ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเริ่มลดลง กรมชลประทานได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ
สำหรับลุ่มน้ำมูล ปัจจุบันใช้เขื่อนกั้นน้ำในลำน้ำมูล 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนพิมาย เขื่อนชุมพวง เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ช่วยหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู่ลำน้ำมูลตอนล่าง โดยเปิดบานระบายน้ำตามความเหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชี ซึ่งจะลดผลกระทบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ทำให้ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลง ในส่วนของเขื่อนลำเซบาย ลำเซบก และเขื่อนปากมูล ได้ยกบานประตูระบายน้ำพ้นน้ำเพื่อเร่งระบายสู่แม่น้ำโขง โดยคาดการณ์ว่าลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีระดับน้ำจะกลับสู่ตลิ่งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงพร้อมกับเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณมาก บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง เวลา ปริมาณน้ำในพื้นที่ ปริมาณน้ำจากทางเหนือ ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำหนุน พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรับส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด. -สำนักข่าวไทย