อช. เขาใหญ่คุมเข้ม ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าถ่ายภาพช้างป่าในระยะใกล้

นครราชสีมา 14 ต.ค.- หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่ตามไล่ถ่ายภาพช้างป่าในระยะใกล้เนื่องจากเป็นการกดดันช้าง โดยสุดสัปดาห์นี้ สถานการณ์ดีขึ้นกว่าเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา กำชับเจ้าหน้าที่คุมเข้ม ให้นักท่องเที่ยวอยู่ห่างช้างมากกว่า 50 เมตร ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่มากขึ้น หมอล็อตย้ำ การไล่ตามช้าง อาจทำให้ช้างเครียด จนหันมาทำร้ายนักท่องเที่ยว รวมถึงทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่อารักขาอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย


นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปเที่ยวเขาใหญ่กล่าวว่า ในวันหยุดยาว 3 วันนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่นักท่องเที่ยวพยายามไล่ตามถ่ายภาพช้างป่าในระยะใกล้นั้น ดีขึ้นกว่าสุดสัปดาห์แล้ว

ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่คุมเข้ม ให้นักท่องเที่ยวอยู่ห่างช้างป่ามากกว่า 50 เมตร ขณะที่นักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่มากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่า การไล่ตามถ่ายรูปช้าง เป็นการกดดันช้างที่ออกหากินตามธรรมชาติ ดังเช่นวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม นักท่องเที่ยวแห่ตามถ่ายรูปโขลงแม่ช้างที่เพิ่งตกลูก ทำให้ช้างเครียด อีกทั้งระยะนี้เป็นห้วงที่ช้างเริ่มตกมัน ช้างที่เครียดเพราะถูกไล่ตาม รวมถึงช้างตกมันอาจทำร้ายนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ได้


หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กล่าวว่า ขอร่วมมือนักท่องเที่ยวทำตาม 10 ข้อเมื่อเจอช้างป่า ดังนี้

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 50 เมตร

2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง


3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ

4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที

5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ

6. ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้

7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย ค่อยๆ เคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด

8.ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น

9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น หากรถคันหน้าเปิดไฟถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ

10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้

ทั้งนี้ขอให้นักท่องเที่ยวพึงรำลึกไว้เสมอว่า แม้เห็นช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆ ทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่ช้างจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าแนะนำวิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างเบื้องต้น ดังนี้

  • เมื่อช้างอารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา
  • หากช้างอารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา

ทั้งนี้ช้างเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไวจึงถูกกระตุ้นได้ง่าย โดยหากถูกไล่ตามจนโกรธหรือไม่ไว้ใจ อาจพุ่งตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนทันที โดยไม่แสดงอาการหงุดหงิดให้เห็นก่อน นอกจากนี้เมื่อช้างหงุดหงิด อาจทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่คอยอารักขาช้างและดูแลนักท่องเที่ยวในบริเวณนั้นได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในขณะนี้คือ นายสุทธิพร สินค้า หรือ “พี่สุทธิ” ซึ่งได้รับฉายาว่า “มือปราบช้างป่าเขาใหญ่” แต่ “พี่สุทธิ” มีเพียงกระบอกไฟฉายเป็นอาวุธ จึงอาจได้รับอันตรายจากช้างที่อยู่ในภาวะเครียดได้

หมอล็อตบอกด้วยว่า กรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญกับการอารักขาช้างป่าให้รู้สึกปลอดภัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ป่า หากยังถูกกดดัน แม้อยู่ในบ้าน อาจทำให้ช้างยิ่งออกนอกพื้นที่ป่า ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งคนทั้งช้างป่าอย่างไม่สิ้นสุด

หากระหว่างเดินทางในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วช้างป่าออกมาเดินบนถนน แล้วเกิดรถติด หรือสังเกตว่า ช้างเกิดความเครียด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียง หรือสามารถโทร. 086-0926527 (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) และ 086-0926529 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้มา “อารักขา” ช้างป่า พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ค่าฝุ่นกทม.

กทม. เช้านี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 54 พื้นที่

กรุงเทพฯ เช้านี้ พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 54 พื้นที่ แนะสวมกากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.