กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – รมว.ทส. ห่วงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่บางขุนเทียน ย้ำมีหลายมาตรการในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะโครงการทำเขื่อนกันคลื่นยาว 4.7 กิโลเมตร ตามที่ กทม. เสนอ ย้ำจะต้องหาแนวทางไม่ให้บริเวณหัวท้ายของเขื่อนกันคลื่นเกิดการกัดเซาะเพิ่ม ผู้ว่าฯ กทม. ขอให้เร่งรัดการอนุมัติงบประมาณที่รัฐบาลจะสนับสนุน 30% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำคณะผู้บริหารกระทรวง สำรวจและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบางขุนเทียน โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมรับฟังปัญหาและหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากประชาชนในพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวว่า สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยมี 2 ประการ คือ การกัดเซาะชายฝั่งโดยธรรมชาติ เช่น คลื่น กระแสน้ำชายฝั่ง น้ำขึ้น น้ำลง ลมมรสุม และพายุ และการกัดเซาะชายฝั่งจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้างริมชายฝั่ง การสร้างรอดักทราย การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ เป็นต้น
สำหรับการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบางขุนเทียนนั้น สาเหตุไม่ได้มาจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง สังเกตได้จากหลักเขตกรุงเทพมหานคร หลักที่ 28 แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กับจังหวัดสมุทรปราการ และหลักที่ 29 พื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กับจังหวัดสมุทรสาคร ที่จัดสร้างขึ้นหลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502 ตลอดระยะเวลา 60 ปี หลักเขตนี้ก็ยังโผล่พ้นเหนือน้ำ หากเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างมีนัยสำคัญ หลักเขตนี้ควรจะจมอยู่ใต้น้ำ การแก้ไขปัญหาต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กันไป
ส่วนโครงการจัดสร้างเขื่อนกันคลื่นที่กรุงเทพมหานครเสนอความยาว 4.7 กิโลเมตร ซึ่งต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากรัฐบาลนั้น จะช่วยเร่งรัดให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อสร้างเขื่อนกันคลื่น บริเวณหัวท้ายเขื่อนกันคลื่นอาจเกิดการกัดเซาะมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น พร้อมได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้ฝากนายวราวุธให้ช่วยเร่งรัดงบประมาณโครงการดังกล่าว โดยการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณนี้ใช้งบประมาณของ กทม. 70% รัฐบาลสนับสนุน 30% ตลอดจนต้องเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน สาเหตุจากเป็นพื้นดินอ่อนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ บางส่วนของกรุงเทพมหานครจึงอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมทั้งการสูบน้ำบาดาลในอดีต การก่อสร้างอาคารที่มีน้ำหนักมาก การถมคลองเปลี่ยนเป็นถนน ทำให้พื้นที่รับน้ำที่เคยมีจำนวนมากในอดีตหายไป การกีดขวางและการอุดตันการระบายน้ำ เป็นต้น สถานการณ์โลกร้อนที่มีผลต่อการจมน้ำของกรุงเทพฯ มีผลกระทบต่อเนื่องมาจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) และเอลนีโญ (EI Nino) ที่ทำให้มีฝนมากหรือน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศก็ให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ UNFCCC : NAPs ภายใต้กรอบการดำเนินงานด้านการปรับตัวแคคูน UNFCCC : Cancun Agreement เพื่อเป็นกลไกและวิธีการในการระบุความจำเป็นต่อการปรับตัวในระยะกลางและระยะยาว นำไปสู่การบูรณาการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและประกาศใช้ต่อไป
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ในส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีภารกิจที่เกี่ยวข้องในเขตบางขุนเทียน เป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวของกรุงเทพมหานครที่ติดทะเล ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร โดยสถานภาพชายฝั่งของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน มีระยะทางชายฝั่งประมาณ 7.11 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่เป็นหาดโคลนอยู่ในแนวทางการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง (Coastal rehabilitation) เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้มีการดำเนินการแก้ไขในพื้นที่ดังกล่าวแล้วทั้งหมด แต่ยังมีการกัดเซาะอยู่ประมาณ 2.60 กิโลเมตร และไม่มีการกัดเซาะเพิ่มระยะทาง 4.51 กิโลเมตร ปัจจุบันมีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรุงเทพฯ ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การปักเสาคอนกรีต เขื่อนหินป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง และเขื่อนหินทิ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แนวชายฝั่งในเขตบางขุนเทียนเริ่มปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งที่เป็นผลมาจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง
ทั้งนี้ กรม ทช. ได้มีแนวทางบริหารจัดการแนวชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน เพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจจะทำให้กรุงเทพมหานครจมใต้น้ำ โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำแผนงาน โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 โดยใช้แนวทางฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่งเป็นหลัก คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า และการปักเสาดักตะกอน พร้อมกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) มีการสนับสนุนการใช้แนวทางธรรมชาติในการจัดการปัญหาภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน อาทิ การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิมที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างและฟื้นฟูป่าชายเลนตลอดแนวชายฝั่ง ปัจจุบันผืนป่าชายเลนบริเวณบางขุนเทียนขาดความอุดมสมบูรณ์ มีความหนาแน่นประมาณ 50 เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพราะป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ต้องมีความหนาแน่นประมาณ 300 เมตร
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องการดำเนินการในรูปแบบการปักเสาดักตะกอน หรือวิธีการดักตะกอนอื่นๆ ที่เหมาะสม การปลูกป่าชายเลนโดยภาครัฐและเอกชน การสร้างแรงจูงใจในการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เอกสารสิทธิ อาทิ การลดภาษี การถอยร่นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ประกอบอาชีพ เช่น การเลี้ยงกุ้ง จากแนวน้ำทะเล เพื่อพื้นฟูป่าชายเลน การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณชายฝั่งให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เวนคืนพื้นที่แนวชายฝั่งในระยะ 300-500 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งเพื่อสร้างแนวป่าชายเลน ทำการรื้อถอนโครงสร้างแข็งที่ไม่มีการใช้ประโยชน์และไม่มีการใช้งานแล้ว เช่น ท่าเรือ อาคาร ร้านค้าที่ปลูกสร้างรุกล้ำชายหาด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงการเสริมตะกอนดินจากการขุดลอกปากแม่น้ำ.- สำนักข่าวไทย