กรุงเทพฯ 27 เม.ย.-ผบ.ตร.สั่งเร่งล่า 31 ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาที่เหลือ มาดำเนินคดี ยืนยันไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ออกหมายจับไว้ 155 หมาย เสียชีวิตไป 2 ราย ฟ้องไป 116 ราย ส่วนใหญ่ศาลสั่งลงโทษ บางรายถูกตัดสินจำคุกกว่า 1,600 ปี เชื่อหากมีการช่วยเหลือกัน ผลไม่ออกมาเป็นแบบนี้
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ว่าคดีค้ามนุษย์เกิดเหตุตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ที่ พล.ท.มนัส คงแป้น เป็นจำเลย ศาลตัดสินไปแล้ว และ พล.ท.มนัส เสียชีวิตในเรือนจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบเรื่องนี้มาหลายครั้งตั้งแต่มีข่าวปลายปีที่แล้ว ผมขอเรียนอีกครั้งว่าขอให้ดูภาพรวมการดำเนินคดีว่ามีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีและฟ้องศาลไป 116 ราย จะเห็นว่าไม่มีใครที่หลุดรอดไปจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ คดีนี้ไม่ใช่แค่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ สำนักงานอัยการสูงสุดโดยหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน และตำรวจเป็นผู้ร่วมภายใต้คำสั่งของพนักงานอัยการ เพราะเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงอยากให้ดูว่าไม่มีใครหลุดรอดไปจากการดำเนินคดี ส่วนที่ 2 คือ มีบางส่วนที่ยังไม่ถูกจับกุมมา เท่าที่ตรวจสอบออกหมายจับไว้ 155 หมาย เสียชีวิตไป 2 ราย เหลือ 153 หมาย ถึงวันนี้จับไปแล้ว คงเหลือ 31 หมาย ก็เร่งรัดอยู่ ใครที่หลบหนีพยายามจับกุมมาดำเนินคดีให้ได้หมด บางรายที่ฟ้องไป 116 ราย ส่วนใหญ่ศาลสั่งลงโทษ บางรายถูกตัดสินจำคุกกว่า 1,600 ปี
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบบุคคลที่มีชื่อเสียง (Big Name) ทั้งหลายก็ไม่มีแล้ว ก็โดนทุกคน ถ้ามีอะไรที่มากไปกว่านี้ก็ยินดี แต่ตรวจสอบไปหลายรอบแล้ว จึงอยากให้ทำความเข้าใจว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย เพราะช่วงนี้โดยส่วนตัวเป็นห่วงภาพลักษณ์ประเทศ เพราะเป็นช่วงที่มีการทำเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบกระเทือนแค่ไหน จึงอยากให้ช่วยเสนอในแง่มุมทางนี้ด้วย เพราะการที่กล่าวหากันไปกันมาเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับบุคคล ท่านสามารถใช้สิทธิได้ แต่เราเป็นเจ้าหน้าที่ก็ดูในภาพรวมว่ามีใครไหมที่หลุดรอดไปจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่มี ผมชี้แจงไปหลายครั้งแล้วก็น่าจะพอเพียง
หลังจากนั้น ผบ.ตร.เดินมาพูดคุยกับสื่อมวลชน ซึ่งมีแนวคิดจัดสัมมนาระหว่างสื่อมวลชน ผู้ทำคอนเทนต์เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มต่างๆ และประชาชนที่สนใจ มาดูวิธีการทำงานในการรวบรวมพยานหลักฐานทำกันอย่างไร จากนั้นสื่อมวลชนสอบถามถึงกรณีที่มีบุคคลทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการฟ้องร้องหรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายต้องพิจารณาว่าถ้าคนทำให้เกิดความเสียหายในรูปคดีหรือไม่ ทีมสอบสวนจะต้องพิจารณาว่าประเด็นดังกล่าวจำเป็นจะต้องไปทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ หากเป็นการทำลายหลักฐานประจักษ์พยาน หรือทำให้พนักงานสอบสวนเสียหายก็ต้องว่ากัน ตามหลักการเป็นแบบนั้น ส่วนรายละเอียดก็ต้องพิจารณาว่าใครเข้าเงื่อนไขนี้บ้าง ส่วนการวิพากษ์โดยบริสุทธิ์ใจเป็นสิทธิสามารถทำได้
ถามต่อว่ามีบางส่วนที่ยังไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ผมคิดว่าเป็นการเรียนรู้ของสังคม เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนส่วนหนึ่งไม่เชื่ออาจเป็นเพราะเราทำตัวไม่น่าเชื่อถือหรืออะไรก็ตาม แต่เราต้องหาวิธีแก้ ผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่ได้แสดงให้เห็นว่าระบบที่เราอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร เราอยู่กับระบบยุติธรรม และเราไม่เชื่อในระบบที่เรามี ประเทศก็เดินไม่ได้ ส่วนจะผิดจะถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราจะต้องพิจารณาก่อนว่าระบบเป็นอย่างไร
ถามต่อว่าเป็นการดิสเครดิตตำรวจและรัฐบาลหรือไม่ เพราะอยู่ในช่วงการจัดอันดับการค้ามนุษย์ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องดิสเครดิตอาจเป็นเจตนาพิเศษ แต่ไม่อยากไปตรงนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา ก็จะมีคนหยิบประเด็นไป อาจเป็นประโยชน์ทางตรง หรือทางอ้อม เป็นธรรมชาติของสังคมเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องดูภาพรวมก่อน เขาเชื่อถือตำรวจแค่ไหน หากชาวบ้านไม่เชื่อถือ เราทำงานไม่ได้ ซึ่งจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจกัน ส่วนคดีแตงโมเมื่อวานนี้ ทางพนักงานสอบสวนก็ชี้แจงไปเท่าที่เขาชี้แจงได้ เขาพยามหยิบอันนู้นอันนี้มา แต่คนก็ไม่เชื่ออยู่ดี คนถ้าไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ แต่ผมยังเชื่อว่ามีคนที่เชื่อ จริงๆ แล้วเราพยายามทำตามกติกาตามหลักการ หากมีโอกาสจะแสดงให้เห็นว่าระบบของการสืบสวนสอบสวนทำอย่างไร พยายามจะเปิดการอบรมสัมมนา
ถามต่อว่าคดีโรฮีนจามีการนำเสนอของสื่อต่างประเทศด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องทำการอธิบายประชาสัมพันธ์ไป ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ทำไปแล้ว เช่นเดียวกันกับกระทรวงกลาโหมก็ชี้แจงไปแล้ว แต่ผมอยากให้ดูระยะยาว เพราะสุดท้ายแล้วคนก็ถูกดำเนินคดีไปเกือบทั้งหมดแล้ว มีบางรายที่ศาลไม่ลงโทษด้วยเหตุผลของกฎหมาย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่ตั้งใจทำ ไม่ใช่อย่างนั้น ส่วนเรื่องการเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีเหตุผลหนุนหลังพิเศษ สมมติเป็นเรื่องการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถามต่อว่าหากเป็นเหตุผลทางการเมือง กล่าวโทษลอยๆ โดยไม่มีหลักฐาน จะดำเนินคดีอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า จะต้องไปพิจารณาว่าเข้าข้อกฎหมายหรือไม่ เพราะการกระทำบางทีแบบนี้ก็ก้ำกึ่ง แต่ขอให้เป็นวิจารณญาณของประชาชน
ถามอีกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดต่อพูดคุยกับ พล.ต.ต.ปวีณ บ้างหรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่มี ในชั้นต้นได้สำรวจตรวจสอบแล้วว่ามีอะไรที่ควรทำแล้วยังไม่ได้ทำมีไหม มีใครที่ยังรอดจากกระบวนการสืบสวนสอบสวนบ้างไหม เพราะเห็นท่านบอกว่ายังมีอีกที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี เราก็พยายามหาอยู่ ก็ยังไม่เจอ
ถามอีกว่ามีการพูดชื่อพาดพิงไปถึงนายกฯ รองนายกฯ และ ผบ.ทบ. พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า อันนั้นเป็นสิ่งที่ท่านพูด และเป็นการคุยกันระหว่างตัวบุคคล ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร สมมติเป็นอย่างที่ว่าจริง มีการช่วยเหลือกันจริง ผลก็ต้องไม่ออกมาแบบนี้ และ พล.ท.มนัส ก็เสียชีวิตไปแล้วในเรือนจำ หากมีการช่วยกันจริงมันไม่ใช่แบบนี้ อีกอย่างหนึ่งหากมีการช่วยกันจริง ตนถามว่าจะช่วยได้หรือ คนคนเดียวทำได้หรือไม่ คดีนี้พนักงานสอบสวนมีเป็นร้อยคน คนหนึ่งจะสามารถไปสั่งทั้งขบวนการ สมมติหากช่วยกัน คุณไปสั่งอย่างโน้นอย่างนี้สั่งได้หรือไม่ และตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบหลักหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เอาตรรกะมาคุยกันดีกว่า เป็นการอ้างอิงการพูดคุยของคน 2 คนไม่ได้ ผมจึงอยากให้ดูผลลัพธ์.-สำนักข่าวไทย