กองปราบฯ 22 เม.ย.- กองปราบฯ รวบประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม อ้างตัวเป็นประธานบริษัทอีกหลายแห่ง ใช้เอกสารปลอมหลอกชาวบ้านร่วมลงทุน พบ 1 ปี เงินหมุนเวียนกว่า 29 ล้านบาท
พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการกองปราบปราม ร่วมกับ พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผู้กำกับการ 4 กองปราบปราม แถลงจับกุมนายกำจรเกียรติ อายุ 43 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ปลอมเอกสารสิทธิ, ใช้เอกสารสิทธิปลอม และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ โดยจับกุมที่อู่ซ่อมรถ ย่านบางกะปิ พร้อมยึดของกลาง โทรศัพท์มือถือ 8 เครื่อง อาวุธปืนพกสั้น 1 กระบอก สมุดบัญชีธนาคาร 7 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 8 ใบ เอกสารเกี่ยวกับคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม สอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พล.ต.ต.มนตรี เปิดเผยว่า ตำรวจได้เตือนเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังพบว่ามีองค์กรหนึ่งใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ชักจูงชาวบ้านให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยแจ้งว่าจะมีเงินเดือนค่าตอบแทนในแต่ละระดับที่สูงตั้งแต่ 15,000-1,000,000 บาท ตรวจสอบนายกำจรเกียรติ อยู่เบื้องหลัง โดยโครงการตามที่กล่าวอ้างไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่ยังไม่ชัดเจนในความผิด กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีผู้เสียหายชาวเชียงใหม่มาร้องเรียนว่า มีคนอ้างชื่อคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม มาชักชวนแม่ให้เข้าร่วมกลุ่ม โดยเสนอตำแหน่งผู้อำนวยการระดับตำบล และมีค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท เพียงจ่ายค่าสมัครสมาชิกแรกเข้า 320 บาท ซึ่งผู้ร้องเรียนคิดว่าเป็นมิจฉาชีพ จึงไม่ยอมให้แม่สมัคร แล้วนำพยานหลักฐานมามอบให้ตำรวจสืบสวน พบว่า กลุ่มดังกล่าวได้หลอกลวงชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก พิจิตร และนครสวรรค์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ
ด้าน พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผู้กำกับการ 4 บก.ป. เปิดเผยว่า พฤติกรรมนายกำจรเกียรติ อ้างตัวเป็นประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์ฯ และจะชักชวนให้ชาวบ้านร่วมเป็นสมาชิก โดยอ้างถึงนโยบายการทำความดี เพื่อช่วยเหลือสังคมประเทศชาติ อาทิ จัดสรรที่ดินทำกิน ครอบครัวละ 25 ไร่, เด็กที่มีอายุ 15-30 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้เงินเดือนๆ ละ 10,000-15,000 บาท โดยจะแบ่งสมาชิกเป็น 4 ระดับ คือ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน แต่ละระดับต้องมีสมาชิก 16 คน จากนั้นกลุ่มสมาชิกต้องทำโครงการเสนอนายกำจรเกียรติ ทั้งยังอ้างถึงการเสนอโครงการต่างๆ ต่อบริษัท เคแอลปิโตรเลียม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งระบุว่าตนเองเป็นกรรมการบริษัท และมีเงินทุนจดทะเบียนถึง 20,000 ล้านบาท แล้วจะมอบเงินงบประมาณในการช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกให้ และเมื่อจัดทำโครงการสำเร็จ สมาชิกในกลุ่มแต่ละระดับจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนขั้นต่ำ คือ ระดับหมู่บ้าน 20,000 บาท ระดับตำบล 50,000 บาท ระดับอำเภอ 50,000 บาท ระดับจังหวัด 100,000 บาท
หากประชาชนสนใจสมัครสมาชิก ต้องชำระเงินค่าสมัครรายคน แบ่งเป็น ระดับหมู่บ้าน 200 บาท ระดับตำบล 300 บาท ระดับอำเภอ 400 บาท ระดับจังหวัด 500 บาท โดยโอนเข้าบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชีนายกำจรเกียรติ โดยตรง แต่เมื่อตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ธนาคาร แล้วพบว่า บริษัทดังกล่าวปลอมหนังสือรับรองการมีเงินฝากของธนาคารฯ ว่ามียอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ วันที่ 22 ก.พ.64 จำนวน 20,000,000,000 บาท แล้วนำมาใช้ยื่นขอเพิ่มทุนจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนธุรกิจการค้า และบริษัทดังกล่าวไม่เคยแจ้งประกอบกิจการกับกรมธุรกิจพลังงาน และบริษัทดังกล่าวไม่เคยเสียภาษีกับกรมสรรพากรแต่อย่างใด ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า มีเงินโอนเข้าบัญชีผู้ต้องหา ตั้งแต่ 1 ม.ค.64 – 28 มี.ค.65 มียอดรวมเงินโอนเข้า กว่า 29 ล้านบาท แต่ถูกโอนไปใช้จ่ายส่วนตัวเกี่ยวกับผู้หญิง โอนให้พวกพ้องของตัวเอง.-สำนักข่าวไทย