กทม. 21 เม.ย.- รอง ผบ.ตร. เปิดแถลงผลระดมกวาดล้างคดีออนไลน์ช่วงสงกรานต์ จับผู้กระทำผิด 6,933 ราย พร้อมเตือนภัยออนไลน์ 9 อันดับที่ถูกหลอกมากที่สุด
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT: Police Cyber Taskforce , พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร., พล.ต.อ.ชยพล ฉัตรชัยเดช ที่ปรึกษาพิเศษ ตร., พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./ รอง ผอ.ศปอส.ตร. แถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ถึง 6,933 ราย พร้อมเตือนภัยออนไลน์ 9 ลำดับที่ประชาชนถูกหลอกมากที่สุด
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งระดมกวาดล้างอาชญากรรมทุกประเภท โดยเฉพาะอาชญากรรมทางออนไลน์ ในช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่ 8 – 17 เม.ย.65 เพราะเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น เกรงว่าจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพได้
จากผลการระดมกวาดล้างของ ศปอส.ตร. และ ศปอส. บช.น.,ภ.1-9 สามารถจับกุมความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทั้งสิ้น 6,933 ราย แบ่งเป็น การพนันออนไลน์ 4,302 ราย แชร์ข่าวปลอมและความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 1,303 ราย คดีล่วงละเมิดเพศต่อเด็ก และสตรี ทางอินเตอร์เน็ต และค้ามนุษย์ 473 ราย คดีหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์ 461 ราย และคดีหลอกลงทุน 394 ราย โดยในคดีทั้งหมดนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหารับจ้างเปิดบัญชีม้า อีกจำนวน 216 คน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า มีคดีที่น่าสนใจอยู่หลายคดี โดยเฉพาะคดีที่ ชุดปฏิบัติการที่ 1 PCT นำโดย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.ภ.8, พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว ผกก.3 บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ผกก.สภ.ฉิมพลี และทีมงาน สืบสวนจนสามารถ “จับกุมแก็งหลอกลงทุน ในแอพพลิเคชั่น Digital Alliance กลุ่มคนร้ายชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยหาเหยื่อจากโซเชียลมีเดีย จากนั้นเมื่อหลงเชื่อก็จะหลอกให้ลงทุนบนแอปพลิเคชันฯ”
ที่น่าสังเกตุคือ กลุ่มคนร้ายมีการแบ่งหน้าที่กันทำ คือ
กลุ่มที่ 1: ทำหน้าที่ชักชวนผู้เสียหายโดยหาเหยื่อจากแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
กลุ่มที่ 2: ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวสร้างความสนิทสนมกับผู้เสียหาย
กลุ่มที่ 3: ทำหน้าที่เทรดนำการลงทุน
กลุ่มที่ 4: ทำหน้าที่เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่ใช้กระทำความผิด
กลุ่มที่ 5: ทำหน้าที่ฟอกเงินโดยเปลี่ยนเงินที่หลอกลวงมาได้ เป็นเงินสกุลดิจิทัล
จากคำให้การพบว่า ผู้เสียหายหลงเชื่อและร่วมลงทุนหลายครั้ง โดยช่วงแรกๆ คนร้ายจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้เสียหายจริง ทำให้มั่นใจและหลงเชื่อ ยอมเพิ่มเงินลงทุนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คดีนี้มีผู้เสียหาย 6 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่าง ติดตามตัวผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์อีกหลายราย มูลค่าความเสียหายคาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
“เราสืบทราบว่าคนร้ายใช้กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นสถานที่ในการกระทำความผิด จึงขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดจำนวน 32 ราย และได้ทำการจับกุมแล้ว 29 ราย ที่กรุงพนมเปญ โดยการประสานความร่วมมือกับตำรวจกัมพูชา จำนวน 2 ราย และที่ประเทศไทย อีก 27 ราย โดยทั้ง 29 รายนี้ แบ่งเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 2 ราย และคนทำหน้าที่เปิดบัญชีม้า อีก 27 ราย เพื่อใช้ในการรับโอนเงิน ส่งต่อไปบัญชีอื่นๆ ในเครือข่าย รอง ผบ.ตร. กล่าว”
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ตร. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา มียอดผู้เสียหายแจ้งความคดีออนไลน์แล้ว 14,436 เรื่อง แบ่งเป็นคดีที่รับแจ้งมากที่สุด 9 อันดับ ได้แก่
อันดับ 1: ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 4,847 เรื่อง
อันดับ 2: หลอกให้ทำภารกิจ เช่น กดไลค์ในติ๊กต๊อก กดไลค์ ชอปปี้ 1,673 เรื่อง
อันดับ 3: หลอกให้กู้เงิน 1,492 เรื่อง
อันดับ 4: หลอกให้รักแล้วหลอกให้ลงทุน 1,207 เรื่อง
อันดับ 5: Call center 1,155 เรื่อง
อันดับ 6: แชร์ลูกโซ่ 536 เรื่อง
อันดับ 7: หลอกยืมเงิน 524 เรื่อง
อันดับ 8: ซื้อสินค้าได้ไม่ตรงปก 208 เรื่อง
อันดับ 9: หลอกให้รักแล้วให้โอนเงิน 182 เรื่อง
ผอ. PCT กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามและหาแนวทางป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมากในช่วงนี้ ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวเป็นการฉ้อโกงประชาชน ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน หลังจากนี้จะได้แจ้ง ปปง. ให้ตรวจสอบเพื่อยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้องและดำเนินคดีฐานฟอกเงินต่อไป หากพบเบาะแส หรือเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ สายด่วน สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ตลอด 24 ชม.-สำนักข่าวไทย