กรุงเทพฯ 21 เม.ย. – ทนายรณณรงค์พาลูกสาวผู้ต้องขังหญิงเรือนจำพิเศษธนบุรี เข้าร้องเรียน รมว.ยุติธรรม กรณีถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรียกเงินค่าดูแลมารดาหลายครั้ง
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยนางสาวเอ นามสมมุติ ลูกสาวของผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรี เดินทางทางเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำเรือนจำพิเศษธนบุรีเรียกเงินค่าดูแลมารดาหลายครั้ง และเมื่อตรวจสอบยังพบว่าเคยก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง ถูกเรียกสอบก็ยังรอดกลับมาทำงานได้ตามปกติ
นายรณณรงค์ ระบุว่าผู้เสียหายรายนี้ มารดาต้องโทษเข้าคุมขังเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ในข้อหาสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก่อนที่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้คุมรายนี้เริ่มมีการติดต่อมาที่ครอบครัวของผู้ถูกคุมขังและเริ่มเรียกเงิน โดยอ้างว่าเป็นค่าส้มตำ หรือค่าเค้กวันเกิดลูกสาว หรือค่าต่าง ๆ โดยมีตามรายนี้ ครั้งแรก 1,000 บาทประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 โดยพ่อได้เอาเงินสดไปให้ครั้งที่ 2 อีก 1,000 บาท ครั้งที่ 3 อีก 1,000 บาท ครั้งที่ 4 อีก 200 บาท ค่าผัดกะเพรา ครั้งที่ 5 อีก 500 บาท ค่าเสื้อกันหนาว บอกจะเอาไปให้แม่ แต่แม่ก็ได้เสื้อแจกจากรัฐบาล เอาเงินสดไปให้ช่วงเดือนมกราคม 2565 เอาไปให้ที่แฟลต ซึ่งอยู่ในเรือนจำเข้าไป ครั้งที่ 6 อีก 1,000 บาท ครั้งที่ 7 นางประภาพร ที่เป็นผู้คุมบอกว่ามีจดหมายจากแม่มาถึงพ่อบอกว่าให้พ่อเอาเงินให้นางประภาพร 1,000 บาท ครั้งที่ 8 โทรมาขอค่าเค้กงานวันเกิดลูก 1,000 ลูกสาวโอนไปให้ทางผู้คุม ครั้งที่ 9 อีก 400 บาท บอกว่าแม่รูดของในเรือนจำไม่ทัน รวมเป็นเงินประมาณ 6,200 บาท และมีการโอนเงินให้ผู้คุมรายนี้ครั้งสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์
ผู้เสียหายระบุเพิ่มเติมว่ายังมีการพยายามติดต่อยืมเงินบิดาอีกประมาณ 10,000 บาท โดยอ้างว่าน้องชายขับรถชนต้องการเงิน แต่ตนห้ามบิดาไว้ จึงไม่ได้มีการโอนไปให้ ส่วนเงินต่าง ๆ ตามที่กล่าวถึงข้างต้นจะมีการนำไปให้ที่แตกต่างกัน เช่น นำเงินไปให้ที่ข้างเรือนจำ หรือโอนเข้าบัญชี หรือเข้าไปให้ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ไม่ไกลจากเรือนจำ และทุกครั้งมีเพื่อนผู้คุมเห็นเหตุการณ์เสมอ
นอกจากนี้ ทางครอบครัววิตกกังวลอย่างมาก คือ ทางผู้คุมรายนี้อ้างสถานการณ์โควิด -19 ไม่สามารถให้ญาติเข้าเยี่ยม ซึ่งผู้คุมจะเป็นคนช่วยดำเนินการต่าง ๆ ให้เอง ก่อนที่ตนเองจะพยายามติดต่อไปหลายช่องทาง แต่ก็เป็นตัวผู้คุมรายนี้ที่เป็นผู้รับสายและติดต่อกลับมาเสมอ ทำให้ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้เจอมารดาเลยสักครั้ง จึงเกรงว่าจะได้รับอันตราย ไม่ปลอดภัย เมื่อไม่นานมานี้ตนเองได้เดินทางเข้าไปที่เรือนจำดังกล่าว ทำให้ทราบว่ามีการเยี่ยมญาติตามปกติ ตนเองจึงตัดสินใจเดินทางเข้าขอความช่วยเหลือกับทนายรณณรงค์ เพราะรู้สึกว่าโดนลิดรอนสิทธิในการเข้าพบมารดา
ผู้เสียหายยังระบุอีกว่าเคยได้รับการติดต่อจากอดีตผู้ถูกคุมขังรายอื่น ทำให้ทราบว่ายังมีผู้ถูกคุมขังอีกหลายรายที่ถูกเรียกรับเงิน จึงเชื่อว่าตนเองไม่ใช่ผู้เสียหายรายแรกและยังทราบว่าผู้คุมรายนี้เคยถูกร้องเรียนและให้ตรวจสอบหลายครั้ง แต่ก็ยังกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ
นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าวันนี้หลังจากรับเรื่องจะมีการแยกเป็น 2 ประเด็น คือประเด็นแรกเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและอาญากับผู้คุมรายนี้ ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ความปลอดภัยของผู้ที่ถูกคุมขัง ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหาย เบื้องต้นได้มีการประสานพูดคุยกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อดำเนินการในส่วนของประเด็นที่ 2 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ย้ายผู้ถูกคุมขังไปเรือนจำอื่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของทางผู้เสียหาย แต่หากไม่ต้องการย้ายก็จะสั่งให้ตรวจสอบเรื่องของความปลอดภัยผู้ถูกคุมขัง ขณะที่ตัวผู้คุมรายนี้เบื้องต้นมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพร้อมตั้งกรอบระยะเวลา 180 วันในการตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งโทษทางวินัยและโทษทางคดีอาญา สำหรับโทษทางวินัยถ้าตรวจสอบและยืนยันได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริงก็จะได้รับโทษให้ออกจากราชการ และโทษทางอาญาก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการเกี่ยวโทษทางคดีอาญาอีกครั้ง
เบื้องต้นหลังจากตรวจสอบหลักฐานที่เป็นคลิปเสียง รวมถึงหลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ เชื่อว่าข้อมูลทั้งหมดมีมูลข้อเท็จจริงพอสมควร ต่อจากนี้จะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนที่มีการระบุว่ามีผู้เสียหายรายอื่นเคยถูกกระทำมาหลายครั้ง ก็ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบย้อนหลังทั้งผู้ถูกคุมขังปัจจุบันและผู้ที่เคยถูกคุมขังและผลโทษว่ามีรายใดเคยถูกเรียกรับเงินแบบนี้ก็จะนำมาประกอบเป็นผู้เสียหายเพิ่มเติมได้
ส่วนเรื่องที่ผู้เสียหายพยายามติดต่อไปที่เรือนจำ โดยติดต่อผ่านเบอร์กลาง แต่ยังเป็นผู้คุมรายนี้เป็นผู้รับว่ามีความผิดปกติ เนื่องจากผู้คุมจะมีการแบ่งเวรกันทำคนละที่ต่าง ๆ ภายในเรือนจำไม่ควรจะมีการรับซ้ำหลายครั้ง ซึ่งทางกระทรวงจะตรวจสอบประเด็นนี้เพิ่มเติม พร้อมกันนี้ยังฝากถึงประชาชนหากไม่รับความสะดวกในการบริการจากหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงยุติธรรมสามารถร้องทุกข์มาได้ที่สายด่วน 1111 ต่อ 77.-สำนักข่าวไทย