นครปฐม 10 ก.พ.- ตร.สอบสวนกลาง โดย บก.ปคบ.ร่วมกับ จนท.สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร บุกโรงงานปุ๋ยปลอมได้ของกลางเพียบ
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผู้กำกับการ 2 บก.ปคบ. พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ รอง ผกก.2 บก.ปคบ. พ.ต.ท.กานต์กนิษฐ์ จงประเสริฐ รอง ผกก.2 พ.ต.ต.จรูญ คำมา สว.กก. 2 บก.ปคบ. พร้อมชุดปฏิบัติการที่ 2 กก.2 บก.ปคบ.ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ร่วมตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ม.5 ต.ทุ่งน้อย อ.เมือง จ.นครปฐม ตามที่มีประชาชนได้ร้องเรียนว่ามีโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีเถื่อนในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมีการประกาศขายสินค้าปุ๋ยเคมีธาตุหลักทางดิน, ปุยเคมีธาตุหลักทางใบ, ปัยเคมีธาตุรองเสริมทางดิน, ปุ๋ยเคมีธาตุรองเสริมทางใบ, สารเคมีกำจัดศัตรูพืช, สารเคมีฆ่าเชื้อรา,ฮอโมนพืชไซโตไคนิน, ฮอร์โมนพืชอกชิน, ปุ๋ยอินทรีย์, วัตถุที่ผู้ขายอ้างว่าเป็นปุ๋ย,สารจับใบ สินค้ามีมากกว่า 30 รายการโดยที่ไม่มีทะเบียนไม่มีฉลาก ไม่มีแถบสี ไม่มีคู่มือ ไม่มีชื่อสาร ไม่มีวิธีแก้พิษ ไม่แจ้งความเป็นอันตรายของผลิตภัณฑ์ ต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 หรือ ประเภทที่ 4 (ที่ห้ามขายโดยเด็ดขาด) ผ่านทางช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊ก 2-3 บัญชี ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าปุ๋ยปลอมดังกล่าวเป็นจำนวนหลายหมื่นคน มีความเสียหายเป็นวงกว้างและมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาทต่อเดือน
จากการตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี 8 รายการและวัตถุดิบพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต จำนวน 16 รายการ เบื้องต้นพบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาต ผลิตปุ๋ยเคมี และปุ๋ยเคมีดังกล่าวไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาเกษตรกลางแต่อย่างใด
ขณะเข้าตรวจค้นเจ้าของสถานที่ดังกล่าวไม่อยู่ มีเพียงลูกจ้างที่ทำหน้าที่ผลิต จึงควบคุมตัวไว้พร้อมกับยึดอายัดของกลางเก็บตัวอย่าง ส่ง พงส.กก.2 บก.ปคบ.เพื่อออกหมายเรียกเจ้าของที่แท้จริง มาดำเนินคดีขายปุ๋ยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ม. 12, 53 แห่ง พ.ร.บ. ปุ๋ย 2518 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผบก.ปคบ.เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีการนำวัตถุอันตรายมาใช้ในทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้ไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ หรือแม้กระทั่งต่อผู้ใช้เอง การใช้วัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียหาย วัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ผลิตโดยโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีมาตรฐานในการจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงและจะไม่มีเอกสารคำแนะนำในการใช้ที่ถูกต้อง ผู้ใช้ไม่สามารถใช้วัตถุอันตรายได้ในอัตราที่เหมาะสม อาจทำให้อาจเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ ก่อนเลือกซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ให้เกษตรกรตรวจเลือกซื้อสินค้าที่ผ่านการขึ้นทะเบียน จากกรมวิชาการเกษตร โดยให้ดูทะเบียนวัตถุอันตราย ที่ฉลากแสดงไว้ที่ผลิตภัณฑ์ และวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศ ห้ามผลิต นำเข้าและมีไว้ในครอบครอง หากพบเห็นผู้กระทำความผิด โปรดแจ้งได้ที่กรมวิชาการเกษตรและเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป .-สำนักข่าวไทย