กทม. 24 ม.ค.- ดีเอสไอตรวจค้นแหล่งจำหน่ายซิมมือถือ พบซิมลงทะเบียนใช้ชื่อแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ส่อนำมาใช้ในกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้โอนเงินหรือก่ออาชญากรรมอื่น เตือนประชาชนอย่ารับจ้างเปิดหมายเลข หรือ บัญชีธนาคาร
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงข่าว กรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัยผู้จำหน่ายซิมโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนโดยชาวต่างด้าวที่เป็นแรงงานในประเทศไทย และบางส่วนที่ยังไม่ลงทะเบียน เป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ปฏิบัติการเชิงรุกในการหาข่าวผ่านสื่อโซเชียล พบว่ามีการเสนอขายซิมโทรศัพท์พร้อมใช้ ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนมาก จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจจะเป็นการกระทำความผิดทางอาญา จึงได้ดำเนินการสืบสวนและทำการล่อซื้อ โดยปรากฏว่ามีการจำหน่ายจริง จึงดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังพบว่ามีร้านค้า จำนวน 2 ร้าน อยู่ในกรุงเทพมหานคร และในอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ประกาศขายซิมทุกเครือข่ายทางเว็บไซต์ เพจเฟชบุ๊ก ซึ่งทั้งสองร้านมีการนำบัตรประชาชนชาวต่างด้าวที่เป็นแรงงานในประเทศไทย มาลงทะเบียน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับอนุมัติหมายศาล ลงพื้นที่ตรวจค้น 2 จุดพร้อมกัน จุดแรกในเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร พบของกลางเป็นซิมที่ลงทะเบียนแล้วและที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรวมกันกว่าหนึ่งแสนหมายเลข พบว่าเป็นซิมที่ลงทะเบียนโดยบัตรประชาชนชาวเมียนมาและกัมพูชา จำนวน 8,500 หมายเลข และที่ลงทะเบียนโดยเจ้าของร้านที่เป็นคนไทย อีกจำนวน 1,500 หมายเลข รวมยึดเพื่อตรวจสอบทั้งสิ้น จำนวน 10,000 หมายเลข และได้ยึดคอมพิวเตอร์และเครื่องโทรศัพท์ดัดแปลงสำหรับใช้ลงทะเบียน จำนวน 9 เครื่อง
จุดที่ 2 เข้าค้น ที่อำเภอขุนตาลจังหวัดเชียงราย เป็นร้านขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ ร้านดังกล่าวจะไม่มีการเก็บซิมสำรอง หากลูกค้าต้องการเมื่อใดต้องสั่งจองล่วงหน้า ผลการตรวจค้นพบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมาก และพบไฟล์สั่งซื้อซิมโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนแล้วอีกหลายรายการ จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อสืบสวนและนำเข้าคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง เพื่อเสนอเป็นคดีพิเศษ
ทั้งนี้ การสั่งซื้อซิมโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าว อาจจะมีการนำไปใช้ก่อเหตุอาชญากรรม ทั้งการเปิดเว็บพนัน การหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชน และแอปพลิเคชันปล่อยเงินกู้ เป็นต้น ซึ่ง ผู้ประกาศขายซิม ผู้ลงทะเบียน และผู้ใช้ อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำหน่ายหรือมีไว้ครอบครอง ใช้หรือมีไว้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม มาตรา 269/1 และมาตรา 269/4 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 7 ปี ปรับ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น รัฐมนตรียุติธรรม ฝาก เตือนประชาชนให้ระวังการนำหมายเลขบัตรประชาชนไปลงทะเบียนซิม และอย่ารับจ้างเปิดหมายเลขและบัญชีธนาคารเด็ดขาด เพราะอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว .-สำนักข่าวไทย