กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – ศาลยุติธรรมโชว์ผลงานปี 2564 ใช้เทคโนฯ ระบบออนไลน์ SMART COURT จัดการคดี พิจารณาเสร็จแล้วกว่า 1.56 คดี ส่วนปี 2565 ต่อยอดดูแลผู้บริโภควิถีใหม่ ตั้งแผนกซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง ฟ้องผ่านระบบ e-Filing ลดความเดือดร้อนและภาระประชาชน
นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2564 มีการพิพากษาคดี ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ SMART COURT อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน สอดคล้องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา พิจารณาพิพากษาคดีทั้งสิ้น 1,194,804 คดี จากคดีค้างเก่าและคดีรับฟ้องใหม่ โดยคดียาเสพติด การจราจร การพนัน บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เป็นคดีส่วนใหญ่ที่ศาลยุติธรรมพิจารณา รวม 1,560,026 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 1,030,906 คดี และคดีอาญา 529,120 คดี โดยขณะนี้ปริมาณคดีค้างพิจารณาคงเหลือ 365,222 คดี คิดเป็น 23.41% โดยปี 2565 จะเริ่มพิจารณาคดีในวันหยุด เพื่อเร่งรัดให้คดีความเสร็จสิ้น
สำหรับปี 2565 ศาลยุติธรรมยังมีนโยบายมุ่งยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ โดยมีแผนจัดตั้ง “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ ซึ่งผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและประสานงานกับองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินคดี อำนวยความสะดวกและลดภาระผู้บริโภคและประชาชนไม่ต้องใช้ทนายในการฟ้องร้องคดี รวมถึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาล เพื่อลดความแออัดตามนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล
ส่วนการประกันสิทธิของคู่ความในคดีอาญานั้น ศาลยุติธรรมยังเน้นคุ้มครองผู้เสียหายจากคดีอาญา และยังมีหลักประกันสิทธิให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาด้วยการยื่นประกันตัวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เพื่อลดการคุมขังโดยไม่จำเป็น โดยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดปี 2564 ศาลได้อนุญาตตามคำร้องไปถึงเกือบ 90% นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลด้วยการคัดกรองตรวจอาวุธและติดตั้งกล้องวงจรปิด.-สำนักข่าวไทย