กรุงเทพฯ 18 ต.ค. – ตำรวจแนะผู้เสียหายถูกหักเงินจากบัญชีหรือบัตรเดบิต โดยไม่ได้ใช้จ่ายจริง รีบประสานธนาคารและเข้าแจ้งความกับตำรวจ เพื่อจะได้เร่งแก้ปัญหาและหาตัวคนทำผิด รวมถึงแนะ 2 วิธีลดความเสี่ยงจากการใช้บัตร
พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุกรณีมีผู้เสียหายถูกหักเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตรเดบิต หลายครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ ตำรวจไม่นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะ ผบ.ตร. สั่งทุกหน่วยในสังกัดสืบสวนขยายผลสาวไปให้ถึงเครือข่ายผู้กระทำความผิดให้ได้ พร้อมแนะผู้เสียหาย ทันทีที่รู้ตัวว่าเงินถูกดูดหายไปให้แจ้งธนาคารทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระค่าบริการออนไลน์ รวมถึงให้รีบตรวจสอบรายการเดินบัญชี และรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้าแจ้งความกับตำรวจทันที เพื่อตำรวจจะได้ตรวจสอบข้อมูล และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทางกฎหมาย
พร้อมยอมรับกรณีมิจฉาชีพได้ข้อมูลที่อยู่หน้าบัตร และตัวเลขรหัส 3 ตัวที่อยู่หลังบัตร มิจฉาชีพอาจสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ในลักษณะที่มีมูลค่าไม่สูงได้ โดยไม่ต้องใช้ OTP โดยวิธีการเลี่ยงความเสี่ยงในการถูกนำข้อมูลแบบนี้ไปใช้ คือพยายามอย่ากรอกข้อมูลบัตรในลิงก์ที่มีการส่งมาทางเมล, SMS หรือโซเชียล แต่หากจำเป็นต้องกรอกข้อมูลอะไรจริงๆ ควรเข้าไปพิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันกดลิงก์ปลอมที่หลอกเข้าไปเว็บปลอม ซึ่งตอนนี้ทำได้แนบเนียนมาก และปกติเราต้องพกบัตรไปไหนมาไหน แนะนำว่าควรนำสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัว เก็บเอาไว้แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสออกจากหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพแอบถ่ายรูปหน้าและหลังบัตร เพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์
2 วิธีดูแลบัตรเครดิต/เดบิต ไม่ให้เลขบัตร-ข้อมูลรั่วไหล
ด้านพันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะนำเพิ่มอีก 2 วิธี ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ โดยวิธีดูแลข้อมูลและบัตรในการใช้งานแบบออนไลน์ แนะนำว่า ไม่ผูกบัตรเครดิต/เดบิต กับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลบัตรจะรั่วไหล หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
หากจำเป็นต้องนำบัตรเครดิต/เดบิต ไปผูกข้อมูล ควรจะกำหนดวงเงินของบัตรที่ทำการผูกข้อมูลให้น้อยที่สุด และเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการจำกัดวงเงินความเสียหายหากกรณีเกิดปัญหาขึ้น
สมัครบริการกับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ให้ส่ง sms แจ้งเตือน เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านบัตร เพื่อให้สามารถตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว
ส่วนวิธีออฟไลน์ แนะนำว่านำสติกเกอร์หรือวัตถุอื่นมาปิดบังหมายเลขหลังบัตรเครดิต (CVV) ป้องกันไม่ให้พนักงานห้าง พนักงานสถานีบริการน้ำมัน หรืออื่นๆ นำหมายเลขไปใช้
หมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมของบัตรของตัวเองสม่ำเสมอ หากพบผิดปกติควรแจ้งทางธนาคารอายัดบัตร และตรวจสอบการทำธุรกรรม และเมื่อได้หลักฐาน นอกจากรีบไปแจ้งตำรวจ ยังสามารถโทรไปที่สายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย