นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 เห็นชอบมาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนรวมทั้งอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เป็นเวลา 1 เดือนนั้น
ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ จากเดิม 4 สาขา ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเป็น 9 สาขา โดยเพิ่มเติมสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1) ลูกจ้างมาตรา 33 จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน ไม่เกิน 10,000 บาท 2) นายจ้างมาตรา 33 จ่าย 3,000 บาทต่อคน ลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน 3) ผู้ประกันตนมาตรา 39,40 จ่ายรายละ 5,000 บาท 4) ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับ 5,000 บาท 5) ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 33 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามการเยียวยาลูกจ้างมาตรา 33 และนายจ้างมาตรา 33 ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. นี้
เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนในครั้งนี้ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล และตรวจสอบข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงนายจ้างในกิจการเจ้าของคนเดียวที่มีชื่อระบุตามทะเบียนพาณิชย์ ขอให้ท่านรีบดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนให้เรียบร้อย ส่วนนายจ้างที่มีสถานะนิติบุคคล สำนักประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลที่แจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคมไว้
“ในเรื่องนี้ ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ จึงได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมประชุมหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกำหนดรายละเอียดให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวต่อไป”นางเธียรรัตน์ กล่าวในท้ายสุด.-สำนักข่าวไทย