กทม.11 มิ.ย.- ตำรวจ ปอท. เตือนสติชาวคีบอร์ด อย่าอ้างโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัว โพสต์ละเมิดสิทธิผู้อื่น อาจถูกดำเนินคดีได้
หลังมีกรณีอาจารย์โรงเรียนแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมในสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้ข้อความลักษณะลามกอนาจาร และมีการนำภาพนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนและภาพผู้อื่นประกอบข้อความ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ นั้น
พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยากฝากเตือนสติผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม อาจเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว มีสิทธิเสรีภาพในการใช้งาน ขอให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนโพสต์หรือแสดงความคิดเห็น แม้การโพสต์สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะเป็นการโพสต์พูดคุยกันแบบส่วนตัว ตั้งค่าเป็นแบบ เฉพาะเพื่อน , เพื่อนทุกคนยกเว้น… , เพื่อนที่เจาะจง รวมทั้งใน ”กลุ่มปิด” ก็ตาม อาจมีโอกาสที่เพื่อนบางคน หรือ สมาชิกที่อยู่ในกลุ่ม แคปรูปหรือข้อความ ออกมาเผยแพร่ส่งต่อให้ผู้อื่น ซึ่งทำให้บุคคลภายนอกได้เห็น และอาจมีการนำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่อาชีพการงานได้ และที่สำคัญการโพสต์เหล่านั้นอาจมีผลด้านกฎหมาย อาจถูกดำเนินคดีได้ถ้าเป็นการละเมิดบุคคลอื่น เช่น นำภาพผู้อื่นหรือตัดต่อภาพผู้อื่นมาประกอบข้อความที่ทำให้บุคคลในภาพได้รับความเสียหาย หรือ โพสต์หรือแชร์ข้อความทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ในเรื่องการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ หากเป็นนำเข้าภาพผู้อื่นที่เกิดจากการตัดต่อ/ดัดแปลง เป็นเหตุให้บุคคลในภาพได้รับความเสียหาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จึงอยากแนะนำข้อควรปฏิบัติในการโพสต์ข้อความหรือภาพในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย ดังนี้ 1.ขณะโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีสติสัมปชัญญะ ไม่อยู่ในขณะมึนเมา หรืออยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ เช่น โกรธ เป็นต้น 2.คิดก่อนโพสต์หรือแชร์ข้อมูลว่าสิ่งที่กำลังจะโพสต์หรือแชร์เป็นความจริงหรือไม่ และ หากโพสต์หรือแชร์ไปแล้วจะมีบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ 3.ไม่นำภาพผู้อื่นมาประกอบการโพสต์ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะภาพที่จะทำให้ผู้นั้นได้รับเสียหาย
4.ศึกษาทำความเข้าใจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์การแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อที่จะไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องหมิ่นประมาท , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในเรื่องการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 14 หรือ การนำเข้าภาพผู้อื่นสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกิดจากการตัดต่อดัดแปลง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 16 เป็นต้น
รอง โฆษก ตร. กล่าวทิ้งท้าย ขอให้พี่น้องประชาชนเล่นโซเชียลฯ อย่างมีสติ และสร้างสรรค์ ด้วยความปรารถนาดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ.-สำนักข่าวไทย