กรุงเทพฯ 16 มี.ค.-พรุ่งนี้ (17 มี.ค.) ศาลอาญานัดไต่สวนปมทนายอานนท์เขียนจดหมายร้องถูกเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวไปควบคุมนอกแดนในยามวิกาล
นายกฤษฎาง นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงกรณีจดหมายของนายอานนท์นำภา ที่ระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเมื่อคืนที่ผ่านมา ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนายอานนท์ได้เขียนจดหมายบรรยายถึงเหตุการณ์โดยละเอียดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เขียนขึ้นที่ศาลอาญา ภายหลังที่ถูกเบิกตัวมาเพื่อขึ้นเบิกความในคดีการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวตนเองกับนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ไปควบคุมนอกแดนในยามวิกาล เกรงไม่ปลอดภัยต่อชีวิต
ส่วนรายละเอียดที่ไม่ได้อยู่ในจดหมายคือช่วงเกิดเหตุการณ์ ในห้องคุมขังยังมีผู้ต้องหาในคดีอื่นๆ รวมอยู่ด้วย แต่กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้คุมผู้ต้องหาคดีอื่นออกจากห้องคุมขังไป เหลือเพียงผู้ต้องหาในคดีชุมนุมปักหมุดคณะราษฎร รวม 7 คน เจ้าหน้าที่พยายามแจ้งว่าจะต้องคุมตัวออกนอกแดนเพื่อไปตรวจโควิด-19 แต่กลุ่มจำเลยยืนยันว่าไม่ไป หลังพยายามอยู่ 4 ครั้ง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ล้มเลิกไป คาดเพราะในห้องคุมจังมีกล้องวงจรปิด
นายกฤษฎาง ทนายความ กล่าวอีกว่า นายอานนท์ได้แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับศาลแล้วพร้อมยื่นร้องขอให้ศาลไต่สวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกดูพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีทั้ง 9 คน รวมคดีของแอมมี่ โดยชี้ถึงเหตุพิเศษเพิ่มเติม คือ เรื่องสถานการณ์การถูกบังคับย้ายห้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดศาลอาญาได้กำหนดวันนัดไต่สวน ตามเอกสารหนังสือคำร้องดังกล่าวในวันพุธที่ 17 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยศาลให้หมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาร่วมในนัดพิจารณาดังกล่าว และให้เบิกตัวนายอานนท์จำเลยจากเรือนจำ มาศาลด้วย
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายอานนท์ เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองระบุว่า ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวแกนนำกลุ่มราษฎรไปควบคุมนอกแดนในยามวิกาล เกรงไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ว่า เรื่องดังกล่าวนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวและให้กรมราชทัณฑ์ทำรายงานรายละเอียดเรื่องราวที่เกิดขึ้น เบื้องต้นทราบว่าจดหมายดังกล่าวนายอานนท์เขียนที่ศาลและส่งให้เพื่อนนำไปโพสต์ในเพจส่วนตัว เนื่องจากไม่มีการอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์
สำหรับข้อปฏิบัติการรับตัวผู้ต้องขังที่มาจากภายนอก ทั้งที่ถูกเบิกตัวไปขึ้นศาล หรือไปโรงพยาบาลภายนอกจะต้องถูกกักตัวในห้องกักโรคเป็นเวลา 14 วัน กรณีของไมค์และไผ่ ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นย่านที่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดโควิด-19 ใกล้บางแค จึงต้องมีการตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกัน โดยมีนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ตรวจ ซึ่งกลุ่มที่ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มีทั้งหมด 9 คน บางคนไม่ยอมให้ตรวจทำให้ยังไม่มีการตรวจ ส่วนกรณี กปปส.ที่เข้ามาถึงเรือนจำช่วงดึกก็ต้องตรวจคัดกรองเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การดูแลผู้ต้องขังคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมีคำสั่งให้บันทึกเทปและเสียง ส่วนเหตุการณ์วานนี้ก็มีการบันทึกไว้เช่นกัน ยืนยันการตรวจโรคตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ปฏิบัติ 2 มาตรฐาน และไม่ได้มีการอุ้มฆ่า ซึ่งในเรือนจำมีผู้ต้องขังจำนวนมากขนาดแตะตัวแกนนำยังไม่ได้
ส่วนกรณีที่นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน ประกาศอดอาหารประท้วงที่ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่าอดข้าวแต่เดี๋ยวจะเข้าไปตรวจสอบ หากมีการอดอาหารจริงก็คงบังคับไม่ได้ แต่ถ้ามีอาการป่วยเรือนจำก็ต้องนำส่งโรงพยาบาล.-สำนักข่าวไทย