สอท. 17 ก.พ. – ตำรวจไซเบอร์เผยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 260 ชีวิต ที่ถูกช่วยเหลือจากเมียวดี ตรวจสอบคัดกรองพบส่วนใหญ่เป็นเหยื่อ และมีผู้สมัครใจไปทำงานเพียง 2-3 ราย
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยถึงกรณีเหยื่อถูกหลอกทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา จำนวน 260 คน กลับเข้าประเทศไทย ว่า จากที่มีการผลักดันชาวต่างชาติที่ทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา จำนวน 260 คน กลับเข้าในประเทศไทยทาง อำเภอพบพระ จังหวัดตากนั้น ตนได้สั่งการให้ตำรวจไซเบอร์รวมแล้ว 50 นาย ไปปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ด่านหน้า เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และจัดเก็บข้อมูลโทรศัพท์มือถือ รวมถึงอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ของ 260 คนดังกล่าว
หลังจากผ่านกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism – NRM การบริหารจัดการคดีและการ ช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ กับงานตรวจคนเข้าเมือง) อย่างละเอียดแล้ว พบข้อมูลบ่งชี้ว่ามีผู้ถูกหลอกลวงไปทำงานที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์จำนวนมาก แต่สมัครใจไปทำงานที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีเพียง 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากเดิมที่เคยแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ว่าในจำนวนดังกล่าวมีเหยื่อที่ถูกหลอกลวงเพียง 1 คน เนื่องจากว่าข้อมูลที่ได้รับรายงานในครั้งแรกกับข้อมูลที่เก็บจากโทรศัพท์มือถือมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทางตำรวจไซเบอร์จึงขออภัยในความผิดพลาดครั้งนี้
ส่วนพยานหลักฐานที่จัดเก็บได้มีข้อมูลเลขรหัสประจำเครื่อง (IMEI) จำนวน 107 หมายเลข และข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในโทรศัพท์ของผู้ที่ข้ามแดนกลับมาจำนวน 35 เครื่อง ซึ่งส่วนนี้จะนำไปตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อหารูปแบบของการหลอกลวง และหาพยานหลักฐานว่าจะดำเนินคดีในความผิดอื่นกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้เพิ่มเติมได้หรือไม่อย่างไร ไม่ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะก่ออาชญากรรมกับประชาชนประเทศใดก็ตาม หรือผู้ที่ไปทำงานที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวจะสมัครใจไป หรือจะไม่มีผู้เสียหายเป็นคนไทยก็ตาม ก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่าเข้าข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ก็จะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหานี้ ซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษหนัก
เมื่อถามว่าในการคัดกรอง NRM จะมีตำรวจเข้าไปร่วมคัดกรองด้วยหรือไม่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า ในส่วนนี้จะมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจภูธรจังหวัดตากเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนตำรวจไซเบอร์มีหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลมาขยายผลเพิ่มเติมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ทั้งนี้ สำหรับ 260 คน ตามกฎหมายคนเข้าเมือง หากพบว่าเป็นเหยื่อจะถูกยกเว้นในการดำเนินคดีในบางข้อหา ส่วนผู้ที่สมัครใจก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย และในส่วนที่ตั้งข้อสงสัยว่ามีกลุ่มคนไทยเข้าไปช่วยเหลือขบวนการดังกล่าวหรือไม่นั้น จะต้องทำการพิสูจน์และรวบรวมข้อมูลก่อน หากพบว่ามีการนำพา หรือมีการช่วยเหลือ แล้วพบว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดในรัฐไทย ก็จะเข้าองค์ประกอบอาชญากรรมข้ามชาติ. -415-สำนักข่าวไทย