ตร. 14 ก.พ. – “พล.ต.อ.ธัชชัย” จตช.ยืนยันจีนส่งรายชื่อ 3,700 คน ต้องสงสัยร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียวดีให้ไทยคัดแยกออกจากเหยื่อค้ามนุษย์
พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เพื่อจัดตั้ง Specialized Cyber Scam and Trafficking in Persons for Forced Criminality Taskforce
พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการหารือเรื่องรายละเอียดที่ทางการไทยได้รวบรวมข้อมูลมาจากมาตรการปราบปรามกระบวนการคอลเซ็นเตอร์และค้ามนุษย์ ทั้งการตัดการจ่ายไฟ ระงับสัญญาณโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต และงดจ่ายน้ำมันตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกัน
ส่วนที่แก๊งอาชญากรมีการย้ายฐานการกระทำผิดจากจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ไปเมืองปอยเปต กัมพูชา ส่วนตัวยังคงมองว่ามาตรการ 7 ข้อ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ผลในการปราบปราบการทำผิดรูปแบบดังกล่าว สิ่งที่ตำรวจทำคือใช้แผนนี้กับประเทศอื่นๆ ต่อ
ในการแก้ไขปัญหาการแก๊งคอลเซ็นเตอร์สิ่งหนึ่งที่ตำรวจไทยพบ คือประเทศเพื่อนบ้านล้วนใช้ทรัพยากรทั้งหมดจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์ และบัญชีธนาคารก็ใช้ของประเทศไทย อีกทั้งคนไทยจำนวนมากมีการไปทำงานฝั่งประเทศกัมพูชาและลาว ส่วนนี้ทำให้เรามองว่าเป็นมิติที่ทางการไทยต้องมุ่งระเบิดสะพานโจร ล้มปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้ทรัพยากรของไทย
เมื่อถามย้ำว่าเจ้าหน้าที่ใช้มาตรฐานอะไรในการคัดกรองคัดแยกระหว่างเหยื่อกับกลุ่มมิจฉาชีพ พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าวว่า ปัจจุบันใช้แบบสอบถามและขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) รวมทั้งใช้มาตรการสืบสวนสอบสวนเข้ามาร่วมด้วย โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและข้อมูลจากแต่ละสถานทูตมาเชื่อมโยงกัน ขณะนี้ทางการจีนได้ให้ข้อมูลมาที่ไทยแล้วว่ากลุ่มคนที่ไปทำงานที่ฝั่งประเทศเมียนมา มีรายชื่อ 3,700 คน ที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในขบวนการค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ที่ผ่านมาจากการที่ตำรวจคัดกรองบุคคลเข้าพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เกือบ 100% เต็มใจที่จะเดินทางเข้าไปประเทศเพื่อนบ้านต่อ มีอยู่เพียง 2-3 รายเท่านั้น ที่แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าถูกหลอกลวงมา ยืนยันได้ว่าบุคคลทั้งหมดทางการไทยไม่พบการบังคับขู่เข็ญ ส่วนนี้จึงเป็นข้อมูลที่เราสื่อสารกับทั่วโลกได้ว่าคนที่มาประเทศไทยไม่ได้ถูกประเทศไทยหลอก และตัวเลขเหล่านี้ยืนยันว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วย ไม่มีทางที่หน่วยระดับปฏิบัติการจะสร้างข้อมูลหลอก
เมื่อถามต่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่ตำรวจยืนยันว่าไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเป็นการฟอกขาวให้ข้าราชการในพื้นที่หรือไม่ พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกัน เพราะคนที่ถูกเข้ามาช่วยราชการยังไม่มีความผิด ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ และขอยืนยันว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการว่าหากพบมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก็พร้อมดำเนินคดีกับทุกคน
ส่วนการที่มีคำสั่งย้ายข้าราชการตำรวจนั้นจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์และเมียวดี คอมเพล็กซ์ หรือไม่ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส ส่วนที่นายตำรวจดังกล่าวต้องถูกตรวจสอบในช่วงนี้ เป็นเพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ถึงแม้ว่าก่อนหน้าไม่ได้ทำ แต่หากพบว่าสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นก็จะมีการดำเนินการ
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายพล ต. มีกระแสข่าวว่ามีความเกี่ยวข้องกับเมียวดี คอมเพล็กซ์ จะถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ
พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC นาน 1 ชั่วโมง ว่าผลการประชุมในวันนี้มีข้อสรุป 3 เรื่อง คือ 1.จะมีการนัดหมายกับตำรวจในประเทศต่างๆ มาประชุมร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศที่มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่ฝั่งเมียวดี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน และเราต้องการความชัดเจนว่าปัญหาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านหมดไปจริงๆ และไม่มีใครถูกหลอกมาอีก ดังนั้นมองว่าข้อมูลในการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการคัดกรองกลไกส่งต่อระดับชาติ และในส่วนนี้ทาง UNODC จะเข้ามาร่วมเทรนนิ่งให้กับทางเรา เพราะเรื่องดังกล่าวอาจต้องใช้กำลังคน จำนวนมากซึ่ง UNODC จะร่วมซัพพอร์ตในส่วนนี้ด้วย ส่วนเรื่องที่ 3 ในการจัดหาล่ามนั้น เนื่องจากมีผู้ตกเป็นเหยื่อในหลายๆ ชาติ และเข้ามาจากหลายประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีล่าม ซึ่งทาง UNODC ก็จะช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.ธัชชัย เป็นประธานในการตรวจสอบนายพล ต. จะเป็นการทับซ้อนกับที่ บช.ก.ทำอยู่หรือไม่ พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย และน่าจะเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวกัน และไม่ทราบว่า บช.ก. ทำเรื่องอะไร คงจะเป็นคนละส่วนกันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ในส่วนของจเรตำรวจฯ จะตรวจสอบในเรื่องของวินัย หลังจากนี้จะต้องดูว่านายพล ต. มีการทำธุรกิจฝั่งประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือไม่ และทำธุรกิจอะไร และจะต้องดูในเรื่องของข้อกฎหมาย ว่าเข้าข่ายความผิดไหน และบทลงโทษเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีที่ประเทศจีนส่งรายชื่อผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ 3,700 ราย ให้กับไทยนั้น พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า เบื้องต้นรายชื่อที่ได้มาเป็นลักษณะกลุ่มแก๊ง ส่วนจะมีความผิดตามหมายของอินเตอร์โพลหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล แต่ทางการจีนให้ข้อมูลมาและระบุว่าคนร้ายกลุ่มนี้ ทำงานเป็นกลุ่มแก๊งอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าสามารถจับกุมได้แล้วหรือไม่ แต่ในขณะนี้สิ่งที่ต้องทำคือต้องตรวจสอบคนที่กลับมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดว่าอยู่ในฐานข้อมูลที่มีหรือไม่
พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยอดส่งผู้ที่น่าจะเป็นเหยื่อกลับมาจากฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว 260 ราย โดยเป็นชาวฟิลิปปินส์ และชาวเคนยาที่มีเยอะที่สุด ส่วนการตั้งจุดคัดกรองเหยื่อนั้นจะมีการดำเนินการตั้งที่อำเภอแม่สอด ส่วนเรื่องที่ให้ต่างชาติเข้ามาช่วยเทรนนิ่งในการคัดกรองนั้น มองว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าปริมาณคนที่จะเข้ามาแต่ละช่วงเวลาจะมีปริมาณเท่าไร การที่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนที่ดี.-419- สำนักข่าวไทย