บก.ปคบ. 6 ธ.ค.-ผู้เสียหายร้องตำรวจ ปคบ.ตรวจสอบบริษัท K4 ชักชวนลงทุนซิมและตู้เติมเงิน อ้างสิทธิ กสทช. พบมีผู้เสียหาย 5,000 ราย มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ หรือ อี้ พร้อมด้วยนายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ เคนโค้ พาตัวแทนผู้เสียหาย 8 คน เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจบก.ปคบ. หลังถูกบริษัทแห่งหนึ่งชักชวนหลอกลงทุนซิมและตู้เติมเงิน อ้างสิทธิ กสทช. พร้อมเปิดข้อมูลมีคนดังเอี่ยวทำการตลาด พบมีผู้เสียหาย 5,000 ราย มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท
นายแทนคุณ กล่าวว่า ปรากฏภาพผู้บริหารของบริษัท K4 ถ่ายภาพร่วมกับฟิล์ม, นายสามารถ ซึ่งผู้บริหารหญิงคนนี้ถือเป็นมาดามท่านหนึ่งของบริษัทดังกล่าว วันนี้มีผู้เสียหายมาด้วยเพื่อนำพยานหลักฐานเชื่อมโยงพฤติกรรมของฟิล์ม ซึ่งจะเกี่ยวข้องอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ติดตามดู แต่เท่าที่ทราบมีบทบาทสำคัญพอสมควร ไม่ใช่แค่เซ็นเตอร์เพียงอย่างเดียว มีคลิปในการเชิญชวนต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียหายสมัครใจร่วมลงทุนด้วย จึงนำหลักฐานพร้อมผู้เสียหายเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามการกระทำของดารานักแสดง
นายแทนคุณ กล่าวว่า ทั้งนี้ พบว่าบริษัทดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเบิกถอนได้ ลักษณะคือการจำหน่ายซิมและเครื่องเติมเงินที่รับการรับรองจาก กสทช. ด้วยใบอนุญาตประเภทที่ 1 โดยใช้ใบอนุญาตนี้ในการขยายผลเชิญชวนกล่าวอ้างในที่ต่าง ๆ เสมือนเป็นใบอนุญาตในการลงทุนและขาย ซึ่งการขายซิมตู้เติมเงินไม่ผิดแต่ประเด็นการทำในลักษณะเชิงลูกโซ่หรือไม่ คือมีการเชิญชวนให้มีการลงทุนในอัตราส่วนเริ่มต้นที่ไม่มากในจำนวนเงิน 5,000 บาท และได้คืนมา 3 เท่า คือ 15,000 บาท โดยมีกำหนดคืนในระยะเวลา 500 วัน จะได้เงินคืนตามสัดส่วนที่ได้มีการลงทุนไป กสทช.ได้อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวทำตรงนี้ แม้จะเคยมีหนังสือเตือนไปที่บริษัทว่าห้ามนำเรื่องของการอนุญาตในครั้งนี้ไปทำเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังมีการชักชวนเชิญชวนจนกระทั่ง ไม่สามารถคืนเงินมาได้ 2 เดือนแล้ว โดยมีการอ้างว่าปรับปรุงระบบ
นายแทนคุณ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวได้มีการข่มขู่ผู้เสียหายผ่าน Open Chat ว่าจะแจ้งความกลับ และจะไปร้องก็ สคบ. ว่าผู้เสียหายที่มาดำเนินการต่าง ๆ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกต 3 ส่วนคือ 1. ความเกี่ยวโยงของ กสทช. ที่มีต่อบริษัทนี้ว่ามีส่วนร่วมและรู้เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร 2. บริษัทดังกล่าวที่มีปัญหาในลักษณะนี้จะเข้าข่ายผิดกฎหมายในข้อหาใดบ้าง ซึ่งจะต้องให้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายก่อนว่าจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ 3.ศิลปินมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้พบมีผู้เสียหาย 5,000 ราย มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท
นายเกรียงไกรมาศ ได้ตั้งคำถามไปถึง กสทช. ว่าใน กสทช.มีเทวดาด้วยหรือไม่ เพราะมีการออกใบอนุญาตให้กับบริษัทนี้ ก่อนบริษัทจะนำไประดมทุนกับประชาชนจนได้รับความเสียหาย และทางรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ออกมาเปิดเผยหลังการตรวจสอบเส้นเงินของนายสามารถพบว่ามีเส้นเงินโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัท และบริษัทดังกล่าวนำรถประจำตำแหน่งไปให้นายสามารถใช้ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพศิลปิน ดารา คนดัง นักการเมืองอยู่ด้วยจำนวนมากจะมีความเกี่ยวข้องอย่างไร ทั้งนี้มีผู้ใหญ่ใน กสทช. 3 คนเซ็นรับรองว่า บริษัทดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ถูกต้อง และใช้แผนของการขายตรงมาระยะยาวมากๆ
นายแทนคุณ กล่าวอีกว่า การแอบอ้างหรือการใช้ กสทช.ในการกระทำความผิดแบบนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าทาง กสทช. ควรจะร่วมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในฐานะหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลเรื่องนี้และเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย และจะต้องตรวจสอบกรณีที่นายเกรียงไกรมาศได้ตั้งคำถามว่าจะมีเทวดาอีกหรือไม่ เพราะหน่วยงานที่กำกับดูแลและออกใบอนุญาตต่างๆ จะถูกตั้งข้อสังเกตเหมือนกัน เมื่อดูแผนธุรกิจแล้วพอจะเข้าใจว่าเป็นการชักชวนร่วมลงทุน
ตัวแทนผู้เสียหาย เปิดเผยว่า มีแม่ทีมของบริษัทได้มาชักชวนโดยสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการให้เข้าไปร่วมประชุม ซึ่งก่อนการประชุมจะมีดารานักแสดงมาโชว์ก่อน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือจากนั้นจะให้โค้ชเข้ามาบรรยาย โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 บริษัทดังกล่าวได้มีการเปิดตัวที่ กสทช. โดยมีผู้ใหญ่ใน กสทช.มาร่วมแสดงความยินดีด้วย ทั้งนี้ก่อนเข้าร่วมลงทุนตัวเองได้ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ พบว่ามีซิมใช้งานได้จริง มีใบอนุญาตรับรอง แต่เมื่อเข้ามาได้เพียงเดือนกว่าก็ไม่สามารถทำธุรกรรมเบิกถอนได้
ขณะที่นายบรรพต ผู้เสียหายอีกราย ซึ่งเป็นนายกสมาคมแพทย์แผนไทยส่งเสริมสุขภาพ เปิดเผยว่า ตัวเองถูกชักชวนให้ร่วมลงทุน จนสูญเงินไป 40,000 บาท ทั้งนี้เตือนไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในต่างจังหวัด เพราะหากเห็นเพียงใบรับรองจาก กสทช.อาจหลงเชื่อได้ทำให้ต้องเสียทรัพย์สินมากมายเหมือนตัวเอง. -419-สำนักข่าวไทย