7 พ.ย. – ตามที่สื่อมวลชนและสังคมให้ความสนใจในกรณีทนายความบางคนได้กระทำการบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง ตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินคดีมรรยาททนายความเป็นไปด้วยความล่าช้า และตั้งข้อสงสัยว่าประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม นั้น
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินคดีมรรยาททนายความว่า เมื่อมีการกล่าวหาว่าทนายความกระทำผิดมรรยาททนายความ สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความจะต้องดำเนินการภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดทุกขั้นตอน โดยต้องผ่านคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการมรรยาททนายความ และคณะกรรมการสภาทนายความ ซึ่งทุกขั้นตอนมีความสำคัญ ไม่สามารถข้ามขั้นตอนหรือลงโทษทันทีทันใดได้ เสมือนระบบการพิจารณาคดีของศาล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ในปัจจุบันได้มีการเร่งรัดพิจารณาคดีมรรยาททนายความตามกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยการประสานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการมรรยาททนายความและคณะกรรมการบริหารสภาทนายความในกรณีดังกล่าว ทำให้การพิจารณาคดีมรรยาททนายความในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนตุลาคม 2567 ได้มีการพิจารณาคดีมรรยาททนายความแล้วเสร็จ จำนวน 274 คดี ปรากฏผลการพิจารณาคดี ดังนี้ 1.ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ จำนวน 18 คดี 2.ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 3 ปี จำนวน 17 คดี 3.ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 2 ปี จำนวน 9 คดี 4.ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 1 ปี จำนวน 8 คดี 5.ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 6 เดือน จำนวน 5 คดี 6.ภาคทัณฑ์ จำนวน 12 คดี 7.งดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน จำนวน 12 คดี 8.ยกคำกล่าวหา จำนวน 73 คดี 9.จำหน่ายคดี จำนวน 29 คดี 10.อนุญาตให้ถอนคำกล่าวหา จำนวน 69 คดี 11.ไม่อนุญาตให้ถอนคำกล่าวหา จำนวน 10 คดี 12.ย้อนสำนวน จำนวน 12 คดี รวมทั้งสิ้นจำนวน 274 คดี.-416-สำนักข่าวไทย