รพ.จุฬาฯ 17 ก.ค. – ทีมชันสูตร 6 ศพ ยืนยันสาเหตุการตายเกิดจากสารไซยาไนด์ หากมากพอทำให้เสียชีวิต ไม่สามารถยืนยันใครตายก่อน ส่วนสารประกอบอื่นรอผลห้องปฏิบัติการยืนยันความชัดเจน
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.), พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร โฆษกสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (ผบก.น.5) ร่วมกันแถลงผลชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของชาวเวียดนาม 6 ราย บริเวณชั้น 5 ของโรงแรมย่านราชประสงค์ กรุงเทพฯ
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า เบื้องต้นจากลักษณะที่ตรวจพบทั้งภายนอกและอวัยวะภายในไม่พบว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตนอกจากสารไซยาไนด์ ต้องรอผลตรวจอวัยวะภายในเชิงลึก เพื่อหาสารบางอย่างเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นหากได้รับสารไซยาไนด์ระดับมิลลิกรัมในเลือด ถ้าได้รับเกิน 3 มิลลิกรัมต่อซีซี จะเสียชีวิตทุกราย หากได้รับไซยาไนด์ในปริมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อซีซี ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างหนัก แต่หากรักษาทันอาจจะรอด ซึ่งจะต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งว่าได้รับไปประมาณเท่าใด สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษไซยาไนด์จะขึ้นอยู่กับปริมาณและวิธีการที่ได้รับ เช่น การสูดดมหรือการรับประทาน หากรับประทานในปริมาณที่สูงจะเกิดอาการในระยะเวลาที่สั้น คนไข้จะมีอาการเหนื่อยหอบ หมดสติ รวมถึงมีการชักเกร็ง เพราะขาดออกซิเจนในสมองเฉียบพลัน ซึ่งสามารถเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วมากในเวลาหลักนาที
รศ.นพ.กรเกียรติ กล่าวว่า การชันสูตรในสถานที่เกิดเหตุและนำมาชันสูตรพลิกศพในภาพรวมทั้งหมด 6 ราย เป็นหญิง 3 ราย ชาย 3 ราย ประกอบด้วยชาวเวียดนาม 4 ราย อเมริกัน 2 ราย ส่วนแรกจะเป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจะมีการพิสูจน์เอกสารหลักฐานซึ่งตรงกับสภาพศพที่ได้รับทั้งนี้ทราบชื่อ เชื้อชาติ ทั้งหมด 6 ราย จากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ 2.การพิสูจน์ระยะเวลาการเสียชีวิต ได้ประเมินจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่โรงแรม เบื้องต้นทีมแพทย์ที่เข้าไปประเมินศพทุกรายเสียชีวิต 12-24 ชม. ซึ่งการประเมินได้มาจากการตรวจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น การแข็งตัวของกล้ามเนื้อหลังการตาย การตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือดในศพทุกรายพบในลักษณะปรากฏสอดคล้องในทิศทางเดียวกันในระยะเวลา 12-24 ชม. 3.สาเหตุการเสียชีวิต ทุกรายทางพนักงานสอบสวนได้ส่งศพมาชันสูตร ที่ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ โดยได้เก็บภาพหลักฐานของผู้เสียชีวิต การเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ น้ำวุ้นลูกตา เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุการตาย และการตรวจซีทีสแกนหาร่องรอยการถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บโดยใช้ภาพถ่ายรังสีคอมพิวเตอร์ช่วย ในเบื้องต้นไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายในทุกราย
รศ.นพ.กรเกียรติ กล่าวว่า ส่วนการผ่าชันสูตร ในภาพรวมทั้ง 6 ราย มีร่องรอยการขาดอากาศเกิดขึ้นคือ ริมฝีปากเป็นสีม่วงเข้ม ใบหน้าต่าง ๆ รวมถึงการตกสู่เบื้องต่ำของเลือดมีสีลักษณะพิเศษ รวมถึงปลายเล็บมือที่มีสีม่วงเข้มเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าอาจจะมีการเสียชีวิตในเรื่องของการขาดอากาศร่วมด้วย จากการตรวจสอบมีคุณลักษณะสำคัญอีกอย่างที่ตรวจพบว่าการตกสู่เบื้องต่ำของเลือดสีที่พบเป็นสีค่อนข้างแดงสดแตกต่างจากเคสหลังตายทั่วไป ทีมชันสูตรจึงตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตเหล่านี้อาจมีสารพิษบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ไชยาไนด์ ทั้งนี้จะเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจพิสูจน์หาสารพิษอื่นๆ ร่วมด้วย
รศ.นพ.กรเกียรติ กล่าวว่า เมื่อผ่าชันสูตร อวัยวะภายในต่างๆ ไม่ได้พบร่องรอยอะไรที่เป็นลักษณะที่สำคัญจากตรวจด้วยตาเปล่าพบเพียงการคลั่งเลือดของอวัยวะต่างๆ ปริมาณมากในทุกราย ส่วนการสรุปสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นการสันนิษฐานในเรื่องของการตรวจพิษของสารไซนาไนด์ส่งผลในการขาดอากาศในระดับเซลล์ของอวัยวะที่สำคัญคือระบบประสาทและหัวใจ เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทุกรายเสียชีวิต ซึ่งมีการตรวจคัดกรองสารพิษไซยาไนด์ในห้องปฏิบัติการพบมีการเปลี่ยนสี ให้สีเป็นบวก จึงสงสัยเรื่องสารพิษไซยาไนด์ ทั้งนี้ทต้องรอผลการตรวจเลือดยืนยันอีกครั้งอาจใช้เวลาอีก 1-2 วัน คาดว่าจะทราบผลในวันศุกร์นี้ ส่วนจะมีปริมาณเท่าใด และมีสารประกอบอื่นๆ ที่ส่งเสริมฤทธิ์ด้วยหรือไม่นั้นต้องรอผลการตรวจเลือดเพื่อยืนยันอีกครั้งคาดว่าจะทราบผลภาพรวมทั้งหมดใน 1-2 สัปดาห์ ทั้ง 6 ราย เจอไซยาไนด์ทั้งหมดในการตรวจคัดกรอง
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถแยกแยะระบุเวลาเสียชีวิตเป็นราย ๆ ได้ว่าใครเสียชีวิตในเวลาไหน ในขณะนั้นใครจะเสียชีวิตก่อนหรือหลัง เพราะการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหลังตายและการตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือดจะบ่งบอกได้เป็นช่วงระยะเวลาเท่านั้น ไม่สามารถลงลึกบอกระยะเวลาที่แน่นอนได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงหลังตายมีปัจจัยรบกวนอยู่หลายอย่าง เช่น อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนแปลงในทุกรายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ 12-24 ชม. จากสภาพศพบ่งบอกไม่ได้เรื่องการชักเกร็ง ทั้งนี้พบว่าทุกศพมีเศษอาหารคงเหลืออยู่ในกระเพาะแตกต่างกัน ซึ่งบางรายอาหารย่อยไปมากแล้ว แต่บางศพยังไม่ย่อยเท่าที่ควร แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอาหารชนิดใดบ้าง ซึ่งข้อมูลนี้แพทย์จะบันทึกลงผลการชันสูตรแบบละเอียด ส่วนการตรวจสอบสารไซยาไนด์ที่พื้นผิวอื่นๆ ของศพนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องยอมรับว่าแพทย์ตรวจเฉพาะไซยาไนด์ในเลือด จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีไซยาไนด์ติดที่อวัยวะภายนอกของบุคคลใดใน 6 รายนี้บ้าง หลังจากนี้จึงจะมีการตรวจภายนอก
ด้าน พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวถึงที่มาของสารไซยาไนด์ว่า ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็นคือ เตรียมการนำเข้ามาก่อนเข้าประเทศไทย หรือหาซื้อในประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งได้สั่งการให้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเริ่มเดินทางเข้าประเทศไปจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม และยอมรับว่าขณะเดินทางผ่าน ตม.ไม่สามารถตรวจหาสารเหล่านี้ได้ รวมถึงไม่สามารถยืนยันว่าผู้ใดคือผู้นำเข้า ต้องรอการสืบสวนให้เสร็จสิ้นชัดเจนก่อน
สำหรับขั้นตอนหลังจากชันสูตรแล้ว ตำรวจจะรอรายงานผลการชันสูตรจากทางแพทย์เพื่อนำไปประกอบในสำนวน ส่วนครอบครัวที่ติดต่อมารับศพ มีเพียงครอบครัวของสามีภรรยาที่มาสอบปากคำที่โรงพัก สน.ลุมพินี ในวันนี้.-419-สำนักข่าวไทย