26 มี.ค. – ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้อง “คุณหญิงพรทิพย์” และพวกรวม 10 คน ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุไม่พบมีมูลความผิด ทุจริต มีการแสวงหาประโยชนแก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลขดำที่ อท 98/2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กับพวกรวม 10 คน กรณีกล่าวหาว่า ร่วมกันทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟ่า เมื่อปี พ.ศ.2551 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ดร.ณรงค์ พลมาตร์ ทนายความผู้ดำเนินคดี เปิดเผยภายหลัง ศาลพิจารณาหลังการไต่สวนพยานครบถ้วนแล้ว ซึ่งไม่พบว่ามีมูลความผิด ทุจริต มีการแสวงหาประโยชนแก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบและไม่พบว่า คุณหญิงพรทิพย์ กับเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ โดยมีเจตนาจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุว่าด้วยการจัดซื้อ จัดจ้าง แต่อย่างใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ทุกข้อกล่าวหา
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า การถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชันซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับราชการ โดยเฉพาะข้าราชการที่ลงไปทำงานในพื้นที่อันตรายที่มีความเสี่ยงตลอดเวลา เมื่อมีการกล่าวหาและให้ข่าวต่อสาธารณะ โดยเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นเหมือนการประหารชีวิต ทั้งที่ ป.ป.ช.ทราบอยู่แล้วว่าไม่มีหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชัน ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน และตลอดระยะเวลา 14 ปี มีบุคคลพยายามสื่อสาร สร้างข่าว สร้างกระแสในทางลบต่อคุณหญิงพรทิพย์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟ่า ทำให้เกิดความเสียหาย โดยข้อเท็จจริง หน่วยงานความมั่นคงได้ดำเนินการจัดซื้อ GT 200 ดังนี้ 1.กองทัพอากาศ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2548 รวมจัดซื้อ 26 เครื่อง 2.กองทัพบก จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2550 รวมจัดซื้อ 757 เครื่อง 3.กองทัพเรือ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2550 รวมจัดซื้อ 38 เครื่อง 4. กรมราชองครักษ์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2551 รวมจัดซื้อ 8 เครื่อง และ 5.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2551 รวมจัดซื้อ 6 เครื่อง
“การที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อหาทุจริต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก และการกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ ซึ่งหมายถึงการกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญ และกรมบัญชีกลางให้ความเห็น และตรวจสอบความชอบแล้ว ดังนั้นการที่ ป.ป.ช.ได้กล่าวหาโดยไร้พยานหลักฐาน แต่อ้างเป็นความเห็นส่วนตัว สร้างตราบาปให้ข้าราชการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคุณหญิงพรทิพย์ มาตลอดระยะเวลา 14 ปี และมีเจ้าหน้าที่บางหน่วยเครียดจนต้องจบชีวิตตัวเอง” ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวย้ำว่า ป.ป.ช.ใช้เวลาในการสอบสวนเป็นเวลานานโดยผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่เคยได้มีโอกาสชี้แจงทั้งก่อนและหลังการชี้มูล ทั้งนี้ เมื่อร้องขอความเป็นธรรมตามมาตรา 99 อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ ป.ป.ช.ฟ้องเอง ซึ่งศาลได้ไต่สวนโดยละเอียดและตรวจสอบพยานบุคคล เอกสาร ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันไม่พบการทำผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาว่า ทุจริต ประพฤติมิชอบ ดังนั้น ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทั้งหมดจึงไม่เป็นความจริง.-416-สำนักข่าวไทย