25 มี.ค. – รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เยี่ยมข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมส่งกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่วประเทศหายจากอาการป่วย และกลับมาปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจำนวน 5 นาย โดยมี พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) พล.ต.ท.ไพบูลย์ เจียมอนุกูลกิจ นายแพทย์ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมทีมแพทย์พยาบาล ให้การต้อนรับ
โดยพูดคุย ซักถามอาการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากทีมแพทย์ และญาติ ให้กำลังใจ พร้อมมอบเงินให้จำนวนหนึ่งกับครอบครัว นอกจากนี้ยังถือโอกาสเยี่ยมตำรวจหญิงที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยพูดคุยซักถามอาการ ให้กำลังใจกับตำรวจหญิง และครอบครัว หลังพบโพสต์น่าเป็นห่วงในโซเชียลของตำรวจหญิงที่ระบุว่ารับราชการตำรวจ 1 ปี หลังรับการฝึกพบเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า มีการแชร์โพสต์จำนวนมาก ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยเร่งตรวจสอบให้ความช่วยเหลือด่วน
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาลตำรวจที่ไม่เคยทอดทิ้งข้าราชการตำรวจที่เจ็บป่วย และได้รับบาดเจ็บให้การดูแลรักษาเป็นอย่างดี ขอส่งกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ทั่วประเทศให้หายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว กลับมาปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตำรวจที่ดีให้กับประชาชน
พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลตำรวจให้ทีมแพทย์ พยาบาลดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เจ็บป่วยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เจ็บป่วย ด้วยภาวะซึมเศร้า โรงพยาบาลตำรวจ มีเพจ “Depress We Care “ซึมเศร้าเราใส่ใจ และเพจ “Because We Care” ซึ่งทีมแพทย์ พยาบาล ทีมจิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด พร้อมสหวิชาชีพ จะให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด
จากสถิติการตรวจสุขภาพจิตประจำปีของข้าราชการตำรวจ ปีงบประมาณ 2565-2566 สำรวจ ณ วันที่ 13 ก.พ.67 พบว่าในปีงบประมาณ 65 พบเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีภาวะซึมเศร้า รุนแรง 301 คน ภาวะเครียด 1,108 คน ปีงบประมาณ 66 พบเจ้าหน้าที่ตำรวจมีภาวะซึมเศร้ารุนแรง 196 คน ภาวะเครียดรุนแรง 1,552 คน และภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง ในปีงบประมาณ 65 จำนวน 150 คน ปีงบประมาณ 66 จำนวน 315 คน
หากโรงพยาบาลตำรวจพบข้าราชการตำรวจมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตนักจิตวิทยา โรงพยาบาลตำรวจจะโทรศัพท์พูดคุยให้คำปรึกษา รวมถึงติดตามอาการ และส่งต่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยในปีงบประมาณ 66 มีการให้คำปรึกษาจำนวน 1,366 คน เหลือติดตามต่อเนื่อง 219 คน อีกทั้งได้จัดทำคู่มือการดูแลสุขภาวะทางจิตใจของข้าราชการตำรวจ รวมไปถึงอบรมโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจ และครอบครัว และอบรม “โครงการครูแม่ไก่” (จิตแพทย์น้อย) โดยอบรมเชิงบรรยายและเชิงปฏิบัติการแก่ข้าราชการตำรวจ ในการดูแลรักษาสุขภาพจิต ไม่ให้เกิดภาวะเครียดหรือซึมเศร้า และให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต ตรวจประเมินสุขภาพจิตให้กับข้าราชการตำรวจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงห้องตรวจจิตเวชและยาเสพติด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทีมแพทย์และผู้ป่วยด้วย
หากข้าราชการตำรวจหรือครอบครัวรวมไปถึงประชาชนประสบภาวะเครียดหรือซึมเศร้าหรือ สามารถติดต่อ โรงพยาบาลตำรวจได้หลายช่องทาง ผ่านทางเพจ “Depress We Care” และเพจ “Because We Care“ อีกทั้งสายด่วน 081 932 0000 ที่พร้อมจะให้คำปรึกษา รวมถึงการป้องกันและรักษาในเบื้องต้นตลอด 24 ชั่วโมง. -416-สำนักข่าวไทย