กทม. 15 ธ.ค.- บช.น. เตรียมมาตรการป้องกันรองรับขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 เน้นย้ำผู้ประกอบการห้ามอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ กำชับ ตร.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบจับกุมการกระทำผิดกฎหมายเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผบช.น.ปรท.ผบช.น. ลงนามคำสั่งวิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ความเร่งด่วน ด่วนที่สุด อ้างถึง กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 ลงวันที่ 7 ธ.ค.66 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย จัดการจราจรและอำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่ กทม.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บก.น.1 – 9 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงทำความเข้าใจบุคคล 3 กลุ่ม ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ
- ผู้ประกอบการ จัดพนักงานตรวจสอบบัตรประชาชน ผู้ใช้บริการ โดยไม่ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ สถานบริการไม่เปิดทำการเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด (เวลา 04.00 น.) สถานบริการต้องตรวจสอบไม่ให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานบริการ สถานบริการต้องไม่ให้มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานบริการ ต้องไม่ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการเล่นการพนันอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในการสถานบริการสถานบริการต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเสียงแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงสถานบริการ จัดให้มีมาตรการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ เช่น บริการเรียกรถ สาธารณะสำหรับผู้ที่มีอาการมืนเมา รวมถึงแนะนำสถานที่พักแรมบริเวณใกล้เคียง กรณีเกิดเหตุร้าย หรือเหตุผิดกฎหมาย ให้แจ้งเหตุไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 หรือ สถานีตำรวจท้องที่
- ประชาชนผู้ใช้บริการ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไป ที่จะเข้าไปใช้บริการในสถานบริการต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และมีเอกสารราชการที่มีภาพถ่ายและระบุอายุไว้ติดตัวไปด้วย ไม่นำอาวุธ และยาเสพติดเข้าไปในสถานบริการ ไม่ขับขี่ยานพาหนะชนิดต่างๆ ภายหลังจากการดื่มสุรา
- เจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมบูรณาการ กับฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสถานบริการ ให้ดำเนินการ เปิด – ปิด รวมถึงตรวจสอบใบอนุญาตสถานบริการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กรณีตรวจพบความผิดตามกฎหมายอื่นหรือสิ่งของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติดให้มีการบูรณาการประสานร่วมกันในการตรวจคันจับกุมเพื่อบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย
ด้านกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ปรับแผนการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ผู้ขับขี่ ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีสถานบริการหนาแน่นเพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ และปรับห้วงเวลาการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับเวลาปิดของสถานบริการ 04.00 น. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไม่ขับขี่ยานพาหนะ หลังจากดื่มสุรา ส่วนกองบังคับการสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมบูรณาการ กับฝ่ายปกครอง ตรวจสอบสถานบริการให้ดำเนินการ เปิด – ปิด รวมถึงการตรวจสอบสถานบริการตามที่ได้รับการประสาน
กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) จัดแผนการตรวจสถานบริการ โดยร่วมบูรณาการกับสถานีตำรวจท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.อก.บช.น.) สนับสนุนภารกิจในฐานะฝ่ายอำนวยการตามที่ได้รับมอบหมาย
กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.)จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมบูรณาการกับสถานีตำรวจท้องที่ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเกิดเหตุสำคัญ หรือเหตุอุจกรรจ์ ให้รายงานผู้บังคับบัญชา ทราบตามลำดับชั้นแล้วรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจนครบาล(ศปก.น.) และ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด .414 .-สำนักข่าวไทย