กทม. 23 ก.ย.- กสทช. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนแม่สอด
พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านป้องกันและปราบปราม, พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช. สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. และ สอท. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมและเสาสัญญาณผิดกฎหมายตามแนว ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก
หลังพบการลักลอบส่งสัญญาณโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอาชญากรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์
ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย และจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนประเทศ เพื่อนบ้าน ตั้งแต่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อสกัดไม่ให้ มีการเผยแพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีการกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการย้ายฐานปฎิบัติ การเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังสามารถอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยได้ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จว.ตาก ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและบางส่วนอยู่ ภายใต้อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย
โดยตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการร่วมตำรวจและ กสทช. ได้มีการ ลงพื้นที่หาข่าวจนนำมาสู่การปฎิบัติการในวันนี้ โดยจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 2 สถานี และในพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จำนวน 4 สถานี
เป็นความผิดฐาน “มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” ตามมาตรา 6 และ 11 แห่ง พรบ.วิทยุคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และความผิดฐาน “ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องได้รับ ใบอนุญาตแบบที่หนึ่งโดยไม่ได้อนุญาต” ตามมาตรา 67 (1) แห่งพรบ.ว่าด้วยการประกอบกิจการ โทรคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
พร้อมทั้งจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 3 ราย ในการนี้ ได้ทำการ รื้อถอนสถานีวิทยุคมนาคมผิดกฏหมายดังกล่าวทั้งหมด และทำการยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้กระทำ ความผิดได้เป็นจำนวนมาก นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ ตรวจพบการตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทำให้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเหตุให้พื้นที่การให้บริการผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเกินกว่าอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย และล่วงล้ำ ไปยังอาณาเขตประเทศข้างเคียง โดยตรวจสอบพบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าลักษณะดังกล่าวจำนวน หลายสถานี สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ถอนการติดตั้งสายอากาศบางจุด หรือ ปรับทิศทาง สายอากาศ หรือ ดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด มิให้แพร่สัญญาณคลื่นความถี่ออกนอกเขตพื้นที่ประเทศไทย เพื่อให้พื้นที่การให้บริการ อยู่ภายในอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย
นอกจากนี้ ตั้งแต่ พ.ค.66 – ปัจจุบัน ได้ตรวจพบการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนการใช้งานโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ใช้งานที่แท้จริงเพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลอื่น จำนวน 7,668 ซิมการ์ด จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 20 คน แบ่งเป็นคนไทย 12 คน และต่างชาติ 8 คน ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบเสาสัญณาณไม่ให้แพร่สัญญาณ โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กวดขันจับกุมผู้ขายและผู้เป็นธุระจัดหา ซิมผี บัญชีม้า เพื่อตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ไม่ให้ทำงานได้สะดวกเหมือนเคย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผู้รับใบอนุญาตเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีการหารือในการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่ เกี่ยวข้อง เพื่อตีกรอบการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด สร้างความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ให้มีความระมัดระวังการใช้การใช้งานเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา มีการออกอุบายใหม่ๆ ที่เน้น สร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อตกใจตื่นตระหนก ตกหลุมพรางของแก๊งมิจฉาชีพ ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่า ตกใจ ไม่เชื่อ ไม่โอน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังพบว่า แก๊งมิจฉาชีพได้มีการจ่ายเงินซื้อ โฆษณา เพื่อให้ลิงก์หรือเว็บไซด์ปลอมมาแสดงอยู่ในลำดับต้นๆ หรือสามารถเข้าถึงผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็น จำนวนมาก มีการปลอมยอดติดตามหรือยอดไลค์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เมื่อประชาชนที่ถูกหลอกลวง ออนไลน์ต้องการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ กดเข้าไปในลิงก์หรือเว็บไซต์ปลอม ถูกหลอกซ้ำซ้อนสร้างความ เสียหายมากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเกิดข้อสงสัยหรือต้องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ขอให้สืบค้น ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ .-สำนักข่าวไทย