กทม. 12 ส.ค.-ผบช.สอท. แถลงผลปฏิบัติการทลายโกดังขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุสินค้าไม่ตรงปก และหลอกเก็บเงินปลายทาง ตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก ความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือตำรวจไซเบอร์ (ผบช.สอท.) แถลงผลปฏิบัติการทลายโกดังขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุสินค้าไม่ตรงปกและหลอกเก็บเงินปลายทาง สามารถตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก ความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ 1) นายเอกฉันท์ อายุ 41 ปี 2) นายนพดล อายุ 27 ปี 3) น.ส.สุพิศตา อายุ 32 ปี 4) น.ส.เจสิตา อายุ 22 ปี ทั้งหมดถูกดำเนินคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันฟอกเงิน
โดยนำของกลางมาแสดงระหว่างแถลงข่าว คือรถกระบะส่งสินค้า 2 คัน รถยนต์ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คัน กล่องใส่พัสดุสินค้าจำนวนกว่า 8,000 กล่อง เล่มทะเบียนรถ กุญแจรถ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และตัวอย่างกล่องสินค้าที่ส่งหลอกผู้เสียหายเพื่อเก็บเงินปลายทาง ซึ่งภายในบรรจุสินค้าที่ราคาต่ำกว่าค่าสินค้าปลายทาง เช่น ทิชชู่เปียก ไฟเช็ค หรืออุปกรณ์เบ็ดเตล็ดที่มีราคาไม่เกิน 20 บาท
สำหรับคดีนี้นั้น สืบเนื่องจากกองบังคับการตำรวจไซเบอร์ 2 ได้รับแจ้งจากประชาชนว่า มีบริษัทขนส่งพัสดุแห่งหนึ่ง สาขาบางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี ส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทาง ในระยะเวลาประมาณ 10 วัน มีการส่งสินค้าที่มีขนาดเดียวกันและประเภทเดียวกันถึง 10,000-20,000 ชิ้น และมีพัสดุตีคืนจากผู้ส่งรายนี้จำนวนมาก
จากการสืบสวนพบพฤติการณ์ว่า นายเอกฉันท์ ได้ร่วมมือกับนายนพดล ซึ่งเป็นเซลล์หาลูกค้าของบริษัทขนส่งพัสดุ สาขาบางกร่าง เปิดเพจ facebook หลอกซื้อขายสินค้าประเภทไฟแช็ค และลำโพง bluetooth ในราคาประมาณ 150-200 บาท พร้อมว่าจ้าง Admin ตอบโต้และรวบรวมรายชื่อที่อยู่ของลูกค้า เมื่อมีลูกค้ามาสั่งสินค้าผ่านเพจแล้ว ก็จะนำสินค้าที่ไม่ตรงปกแพ็คในกล่องส่งให้ลูกค้า เช่น หากลูกค้าสั่งไฟแช็คคุณภาพดีในราคา 6 อัน 100 บาท ก็จะนำไฟแช็ค 3 อัน 10 บาทมาใส่ในกล่อง พร้อมคิดราคาค่าส่งอีก 50 บาท รวมเป็น 150 บาท หรือบางครั้งก็นำทิชชู่เปียกราคาไม่เกิน 20 บาทส่งไป อีกทั้งจะติดฉลากกับกล่องพัสดุสินค้าโดยจะไม่ระบุที่อยู่และเบอร์โทรที่สามารถติดต่อได้จริง แต่จะใช้ที่อยู่และเบอร์ติดต่อของโกดังบริษัทขนส่งสาขาบางกร่างแทน จากนั้นบริษัทก็จะนำพัสดุสินค้าไม่ตรงปกเหล่านี้ ให้บริษัทขนส่งพัสดุกระจายสินค้าไปตามที่อยู่ต่างๆ ของลูกค้า โดยจะเน้นเก็บเงินปลายทางเป็นหลัก ส่วนใหญ่ผู้เสียหายมักจะหลงเชื่อและจ่ายเงินไป กล่องพัสดุละ 150-200 บาทโดยประมาณ
นอกจากนี้ยังพบว่า นายนพดล เซลล์ของสาขา ได้ร่วมมือกับ น.ส.สุพิศตา ผู้จัดการสาขา ให้ทำหน้าที่ส่งสินค้าไม่ตรงปกแก่ลูกค้า คอยแก้ไขปัญหาหากมีลูกค้าร้องเรียนมา และเก็บรวบรวมเงินที่ผู้เสียหายจ่ายปลายทาง ก่อนจะนำเงินโอนให้กับนายเอกฉันท์ ผ่านบัญชีธนาคารของ น.ส.เจสิตา แล้ว น.ส.เจสิตา ก็จะกดเงินสดมามอบให้นายเอกฉันท์ เพื่อให้ไม่มีเส้นทางการเงินโยงถึงและเอกฉันท์โดยตรง
ซึ่งทาง พล.ต.ท.วรวัฒน์ ระบุเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 พบว่ามีเงินหมุนเวียนในขบวนการนี้มากถึง 10 ล้านบาท เฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่ 10 สิงหาคมที่ถูกจับกุม พบเงินหมุนเวียนสูงถึง 2 ล้านบาท ถือว่าเป็นคดีที่คนร้ายได้ผลกำไรตอบแทนสูงมาก โดยลงทุนซื้อสินค้าราคาถูก พร้อมค่าแพ็คและค่าส่งพัสดุ รวมไม่เกิน 50 บาท แต่สามารถเก็บเงินปลายทางสูงถึง 150 ถึง 199 บาท เฉลี่ยกำไรตกกล่องละ 100 กว่าบาท จึงทำให้คดีนี้มีมูลค่าความเสียหายที่สูงมาก
อีกทั้งยังพบว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของตำรวจไซเบอร์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 กรกฎาคม 2566 ได้รับแจ้งความออนไลน์มากถึง 3 แสนกว่าคดี โดยคดีหลอกส่งสินค้าไม่ตรงปก มีมากถึง 120,000 กว่าคดี หรือคิดมูลค่าเกือบกว่า 40% ของคดีออนไลน์ที่ตำรวจไซเบอร์รับแจ้งความทั้งหมด มูลค่าความเสียหายมากกว่าพันล้านกว่าบาท
ทาง พล.ต.ท.วรวัฒน์ จึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีกลวิธีหลอกลวงมากขึ้น โดยสังเกตเพจซื้อสินค้าออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าว่า เป็นเพจเปิดขึ้นมาใหม่หรือไม่ หากเป็นเพจใหม่ มีจำนวนผู้ติดตามไม่มาก มีผู้เข้ามารีวิวในเชิงลบ หรือไม่มีช่องทางการรีวิวสินค้า และเป็นเพจที่ไม่แสดงสถานที่ตั้งของผู้ขายและไม่มีช่องทางการติดต่อ ให้ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นเพจหลอกขายสินค้าออนไลน์และหลีกเลี่ยงที่จะสั่งซื้อกับเพจเหล่านี้ หรือจะแจ้งเบาะแสเพจเหล่านี้กับทางตำรวจไซเบอร์ก็ได้ ผ่านช่องทางออนไลน์เพจตำรวจไซเบอร์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย