กทม. 24 พ.ค.-ตำรวจแถลงปิดคดี “ครูยุ่น” เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก แจ้ง 8 ข้อหาจากประเด็นใช้กำลังลงโทษเด็กในมูลนิธิและให้เด็กไปทำงานภายในรีสอร์ต ความผิดเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์ และการเรี่ยไรเงิน
จากกรณีเมื่อช่วยปลายเดือนตุลาคม ปี 2565 ที่มีการเผยแพร่คลิป นายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ที่กำลังลงโทษเด็กในมูลนิธิและให้เด็กไปทำงานภายในรีสอร์ต จนมีผู้ปกครองและเด็กออกมาร้องทุกข์กับหน่วยงานและขอให้ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือ และขยายผลดำเนินคดี
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากการสอบปากคำพยานกว่า 100 ปาก ทั้งผู้ปกครอง เด็ก และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อมูลว่า ภายในมูลนิธิดังกล่าว มีเด็กในการดูแลทั้งหมด 58 คน แต่มีเด็กจำนวน 33 คน ที่ถูกครูยุ่นลงโทษ ด้วยการทุบตีโดยการใช้เหล็ก ไม้ไผ่ เข้าที่ศีรษะหลายครั้ง รวมถึงมีการบีบคอ และลากเด็กไปกดน้ำที่อ่างจนสำลักน้ำ รวมถึงการบังคับเด็กไปทำงานที่รีสอร์ต โดยให้ค่าจ้างเพียงแค่ 40-60 บาทต่อวัน และหากไม่ทำก็จะถูกหักเงินค่าขนมในแต่ละวันนั้น ทางพนักงานสอบสวน สภ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แจ้งข้อหา ครูยุ่น 8 ข้อหา เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเด็ก และความผิดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ คือ บังคับใช้แรงงานเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และใช้แรงงานเด็กอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเป็นภรรยา และพนักงานในมูลนิธิ ซึ่งได้สรุปสำนวนทั้งหมดส่งให้สำนักอัยการไปแล้ว
ส่วนการการเปิดมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าว ตำรวจได้ดำเนินคดีกับนายแก้วสรร ฐานะประธานกรรมการของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ในความผิดฐานเป็นพูดได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ ไม่ยื่นขอแต่งตั้งผู้ปกครองสวัสดิกภาพเด็กแต่ยังกระทำการเป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพ ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทอดทิ้งไม่ดูแลเด็กเล็ก เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน โดยก่อนหน้านี้ทางจังหวัดสมุทรสงคราม ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน สั่งปิดชั่วคราวไปแล้ว แต่ทางกระทรวงมหาดไทย เตรียมทำหนังสือยื่นขอปิดมูลนิธิถาวรให้กับอัยการ ส่งศาลพิจารณาอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เผยอีกว่า การเปิดมูลนิธิในลักษณะนี้ต้องเสนอให้มีการปิดทั้งหมดเพื่อความสงบสุขและเป็นการดูแลเด็กเล็ก และเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้แก่สถานสงเคราะห์อื่นๆ หากทำผิดกฎหมายต้องยกเลิก และดำเนินการให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังพบความเกี่ยวกับนำตู้บริจาคที่พบว่าไปเรี่ยไรเงินกว่า 300 จุดทั่วประเทศของมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.เรี่ยไรเงิน เพราะเป็นการตั้งตู้บริจาคโดยมิได้รับอนุญาต และส่งเส้นทางการเงินให้ทางสรรพากรตรวจสอบแล้ว ซึ่งหากตรวจสอบแล้วไม่เข้าข่ายเงินบริจาคก็ต้องเสียภาษี และถ้าเอาไปใช้ส่วนตัวก็ต้องดูว่าจะเข้าความผิดฐานใด.-สำนักข่าวไทย