กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – คณะพนักงานสืบสวนคดีตำรวจและฝ่ายปกครองพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เรียกรับสินบนขบวนการค้ายาเสพติดและอาวุธสงคราม มีมติแจ้งความเอาผิดอดีตผู้การจังหวัดนราธิวาสและพวก พร้อมเสนอลงโทษทางวินัยตำรวจอีกกว่า 10 นาย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงดำเนินคดีเด็ดขาดผู้การนราธิวาส-ผกก.ตากใบ และร้อยเวร กรณีเรียกรับเงินช่วยเหลือผู้ต้องหาคดียาเสพติด และอาวุธสงคราม สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานถึง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับสินบนแลกกับการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาคดียาเสพติด และอาวุธปืนสงครามเพื่อให้ไม่ถูกดำเนินคดี มีการออกบัตรแหล่งข่าว หรือบัตรเบ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ขบวนการยาเสพติด รวมทั้งคดีลอบฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ สภ.สุไหงโก-ลก รวมถึงข้าราชการฝ่ายปกครองที่ให้ความช่วยเหลือในการออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนให้กับขบวนการค้ายาเสพติด เบื้องต้นพบว่ามีมูลความจริงเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยเหลือผู้ต้องหาตามพยานหลักฐานที่ได้รับจากนายอัจฉริยะ
ต่อมา ผบ.ตร.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในการสืบสวนดังกล่าว โดยมี พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนจากพยานหลักฐานที่ได้รับจากนายอัจฉริยะ ตั้งข้อสังเกตและประกอบพยานหลักฐาน 4 ประเด็น ประเด็นที่ 1 กรณีคดีลอบสังหาร ส.ต.ต.ธนกฤต ฤกษ์ดี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2565 ขณะปฏิบัติหน้าที่สายตรวจ ต่อมามีการจับกุมนายฮาฟิต อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาให้การซัดทอดว่าได้รับการจ้างวานจากนายชญานนท์ อายุ 25 ปี แต่ พล.ต.ต.แวสาแม กลับให้การช่วยเหลือจนนายชญานนท์ ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 กรณีนายอำเภอสุไหงโก-ลก ให้มีการออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนให้กับกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด โดยไม่มีการตรวจสอบประวัติและออกให้กับบุคคลเดียวจํานวนหลายกระบอก โดยมีการออกใบอนุญาตให้กับผู้ต้องหาสูงสุดถึง 3 กระบอกภายในวันเดียว จากการสืบสวนพบว่า นายชญานนท์ ผู้ต้องหารู้จักกับนายอำเภอสุไหงโก-ลก (ตำแหน่งขณะนั้น) โดยได้ประสานขอใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน หรือใบ ป.4 โดยได้มีการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกให้กระบอกละ 5,000-10,000 บาท จำนวน 7 กระบอก รวมเป็นเงิน 40,000 บาท
ประเด็นที่ 3 กรณีที่ พล.ต.ต.แวสาแม กับพวก ให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ต้องหาให้พ้นจากการถูกดำเนินคดี จากการสืบสวนพบว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.ภ.จว.สงขลา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกันจับกุมนายอาชิ อายุ 33 ปี พร้อมกัญชาอัดแห่งรวม 128 กก. ส่งดำเนินคดีพื้นที่ สภ.ตากใบ ภ.จว.นราธิวาส สอบถามผู้ต้องหาให้การซัดทอดว่าได้รับการว่าจ้างจากนายชญานนท์ ให้ขนส่งกัญชาดังกล่าวไปที่ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน จนต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 ได้มีการขอหมายเข้าค้นบ้านของนายชญานนท์ พบนายชญานนท์ กับพวกรวม 6 คน พร้อมอาวุธปืน AK-47 อาวุธปืนลูกซอง และอาวุธปืนพกสั้นรวม 3 กระบอก จึงได้จับกุมดำเนินคดี แต่ต่อมาพนักงานสอบสวน กลับสั่งไม่ฟ้องนายชญานนท์ กับพวก แต่สั่งฟ้อง 1 ในผู้ต้องหาเท่านั้น จากการสืบสวนกรณีดังกล่าวตรวจพบความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ต้องหา ทั้งด้านการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และเส้นทางการเงิน จึงเชื่อได้ว่ามีการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้พ้นจากการถูกดำเนินคดี
และประเด็นที่ 4 กรณี พล.ต.ต.แวสาเม สาและ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ได้มีการออกบัตรแหล่งข่าว หรือบัตรเบ่ง ซึ่งปรากฏชื่อและเบอร์ โทรศัพท์ของ พล.ต.ต. แวสาแม โดยจะใช้ในการแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ได้รับการอำนวยความสะดวกในกรณีถูกเรียกตรวจ ทำให้กลุ่มผู้ต้องหากล้าพกอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และก่อเหตุทำร้ายร่างกาย รปภ.โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดยในคดีดังกล่าวพบว่าพนักงานสอบสวนถูกแทรกแซงดุลพินิจในการดำเนินการทางคดี โดย พล.ต.ต.แวสาแม มีการโทรสั่งการให้ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ทางคดี เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหา พฤติการณ์ดังกล่าว ของ พล.ต.ต.แวสแม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ภ.จว.นราธิวาส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากมากขึ้น
ทั้งนี้ 4 ประเด็นที่นายอัจฉริยะ ตั้งข้อสังเกตและมอบพยานหลักฐานให้กับคณะพนักงานสืบสวนได้ทำการ รวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริง ล่าสุดคณะพนักงานสืบสวนมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งคดีอาญาและคดีวินัย คดีอาญา ประกอบด้วย พล.ต.ท.แวสาแม สาและ อดีต ผบก.ภ.จว นราธิวาส, พ.ต.อ.นราวี บินแวอารง ผกก.สภ.ตากใบ ภ.จว.นราธิวาส, ร.ต.อ.นิมะอามิง วาเต๊ะ รอง สว.สืบสวน สภ.ตากใบ ภ.จว.นราธิวาส, นายรุ่งเรือง อดีตนายอำเภอสุไหงโกลก และนายชญานนท์ ผู้ต้องหาคดีครอบครองยาเสพติดและอาวุธปืน ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือโยชน์อื่นใดๆ, ปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และ เป็นเจ้าพนักงานยุติธรรมกระทำการเพื่อจะช่วยเหลือบุคคลใดให้มีต้องรับโทษฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 157 และ 200 โดยได้มีการมอบผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 เรียบร้อยแล้ว
ส่วนทางวินัย มีมติให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจํานวน 13 นาย โดยเป็นคดีวินัยร้ายแรง 3 ราย และคดีวินัยไม่ร้ายแรง 10 นาย โดยคณะพนักงานสืบสวนได้ส่งรายละเอียดพยานหลักฐานและรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กองวินัยพิจารณาข้อบกพร่องและดำเนินการทางวินัย แล้วเช่นกัน
พล.ต.อสุรเชษฐ์ ย้ำว่าจะต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเด็ดขาดไม่มีละเว้นแม้จะเป็นข้าราชการระดับสูงก็ตาม.-สำนักข่าวไทย