กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – โฆษกศาลยุติธรรมเผยศาลจังหวัดหนองบัวลำภู สั่งจำหน่ายคดี “ส.ต.อ.” ครอบครองยาบ้า หลังจำเลยเสียชีวิต พบสถิติคดียาเสพติดเป็นคดีอันดับหนึ่งที่เข้าสู่ชั้นศาล
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า กรณีเหตุการณ์อดีตตำรวจยิงเด็กเล็ก-ประชาชนในเขตพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู จนมีผู้เสียชีวิต-บาดจำนวนมาก โดยมีข่าวระบุถึงผู้ก่อเหตุว่าเป็นจำเลยของศาลจังหวัดหนองบัวลำภูด้วยนั้น ผู้ก่อเหตุมีคดี ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู โจทก์ยื่นฟ้องในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนฯ) ไว้ในครอบครองเพื่อเสพโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำนวน 1 เม็ด โดยคดีนัดสอบคำให้การ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ซึ่งจำเลยแถลงว่าไม่มีทนายความและต้องการทนายความ ศาลจึงแต่งตั้งทนายความ โดยนัดคดีไปเข้าศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตามฟ้อง จึงนำคดีเข้าสืบพยานต่อเนื่อง แต่เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) ทนายจำเลย และจำเลยมาศาล และยื่นคำร้องขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาจำเลยอีกครั้ง เนื่องจากต้องการรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาต ซึ่งระหว่างจำเลยกลับบ้าน เพื่อไปนำเอกสารมาประกอบการพิจารณาคดีของศาลนั้น จำเลยได้ก่อเหตุขึ้น
ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (7 ต.ค.) ทนายความจำเลยเดินทางมาศาลตามนัดเดิม โดยแถลงต่อศาลว่าจำเลยได้เสียชีวิตลงแล้ว และอัยการรับรอง ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เพราะเหตุจำเลยเสียชีวิตแล้วสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป โดยจำเลยได้ผ่านการตรวจอาวุธตามกระบวนการของศาล และไม่พบมีการพกอาวุธ อีกทั้งมีสีหน้าและท่าทางไม่ได้เคร่งเครียดแต่อย่างใด ทั้งนี้ อัตราโทษของการครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ไม่มาก จะเป็นการรอกำหนดโทษหรือรอลงโทษ หรือคุมความประพฤติ บำบัดเท่านั้น ลักษณะความผิดไม่ร้ายแรงมากถึงขั้นจำคุก
ส่วนประเด็นข้อสงสัยของสังคม เหตุใดมีประวัติการเสพยาเสพติดแล้วสามารถเข้ารับราชการได้นั้น ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.2/2555 ลงวันที่ 16 มกราคม 2555 มีคำพิพากษาว่าการบำบัดผู้เสพถือเป็นผู้ป่วยมากกว่าอาชญากร คือ ต้องฟื้นฟูบำบัดมากกว่าการลงโทษ ต้องการดูแลจากสังคมเหมือนกัน เพราะหากลงโทษสุดท้ายออกมาก็อาจกลับไปติดยาเสพอีก ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
สำหรับข้อมูลสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรม คดียาเสพติดถือเป็นคดีอันดับหนึ่งเข้าสู่ชั้นศาลมากที่สุดกว่าคดีอื่น ๆ ที่เข้าสู่ชั้นศาลและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยคดียาเสพติดให้โทษเข้าสู่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560–2565 พบว่ามีจำนวนคดียาเสพติดเข้าสู่ชั้นศาลชั้นต้นทั่วประเทศ 1,618,370 คดี ปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 คดี ล่าสุดปี 2565 มียาเสพติด 238,357 คดี แบ่งเป็นประเภทผลิต 2,279 คดี จำหน่าย 17,943 คดี ครอบครอง 30,506 คดี เสพ 144,034 คดี ครอบครองเสพ 29,336 คดี ครอบครองเพื่อจำหน่าย 9,216 คดี อื่น ๆ 5,043 คดี.-สำนักข่าวไทย