กรุงเทพ 5 ต.ค. – ปตท.สผ.มั่นใจผลิตแหล่งเอราวัณปี 65 แม้เชฟรอนยื่นอนุญาโตตุลาการ หลังจากเจรจา ก.พลังงาน ไม่รู้เรื่องวางเงินค้ำประกันรื้อถอน 142 แท่นที่ต้องส่งมอบแก่รัฐ วงเงินรวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ก.พลังงาน – ปตท.ย้ำไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร เชื้อเพลิงความมั่นคงของประเทศไม่ขาดแคลน
วันนี้ (5 ต.ค.) ก.พลังงานจัดงานครบรอบ 18 ปี จัดตั้งกระทรวงพลังงาน มีพิธีสงฆ์ และร่วมรับบริจาคร่วมสมทบทุนสภากาชาดไทยในโครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ฯ ภายหลังการจัดงาน นายพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ” หลังส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เข้ามาผลิตต่อในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ว่า เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการทางกฏหมาย ทางกระทรวงไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มาก โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม ได้ตั้งคณะทำงานเจรจา หากกรณี ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เพื่อผลิตได้ต่อเนื่องหลังหมด เชฟรอนฯ สิ้นสุดอายุสัมปทาน ทางกระทรวงฯ ก็มั่นใจว่าได้เตรียมเชื้อเพลิงไว้อย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ซึ่ง ปตท.มีสถานีรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (RECEIVING TERMINAL LNG) ไว้รองรับแล้ว ขอให้มั่นใจว่าจะมีก๊าซฯ เพียงพอรองรับการผลิตไฟฟ้าและอื่น ๆ ไม่ขาดแคลนแน่นอน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังเชื่อว่า ปตท.สผ.บริษัทในเครือ ปตท.จะยังเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อผลิตก๊าซฯ ได้ตามกำหนด เพราะทุกฝ่ายทั้งกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทาง ปตท.สผ. ทางเชฟรอนฯ ก็อยู่ระหว่างการเจรจาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในฐานะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ก็จะบริหารจัดการไม่ให้เกิดความขาดแคลนแต่อย่างใด
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. มั่นใจว่า บริษัทจะสามารถผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของเชฟรอนฯ ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนด คือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยขณะนี้ท่าทีระหว่าง ปตท.สผ.และเชฟรอนฯ ได้มีการเจรจาหารือกันบ่อยครั้งขึ้น เบื้องต้นทาง ปตท.สผ.ได้เข้าพื้นที่ได้บางส่วน เพื่อเตรียมพร้อมในการทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ ) สำหรับการติดตั้งแท่นผลิตใหม่ระยะแรก 8 แท่น วงเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องเริ่มติดตั้งกลางปี 2564 ดังนั้น จึงขออนุญาตเชฟรอนเพื่อนำแท่นทั้ง 8 แท่นนี้เข้าไปติดตั้งในแหล่งเอราวัณ และคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 กับ เชฟรอนฯ ได้ในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ การที่เชฟรอนฯ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ใช่เรื่องฟ้องร้อง แต่เป็นการหาคนกลางมาไกล่เกลี่ยในเรื่องที่กระทรวงพลังงานและเชฟรอนฯ มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เรื่อง หน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ซึ่งมีทั้งหมด 142 แท่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ 191 แท่ง โดยกระทรวงพลังงานและเชฟรอนฯ ตกลงจะส่งมอบแท่นฯ เพื่อให้ ปตท.สผ.เข้ามาใช้ในการผลิตต่อ 142 แท่น ส่วนอีก 49 แท่นฯ ทางเชฟรอนฯ รับภาระรื้อถอนเองทั้งหมด โดยขณะนี้ 7 แท่นได้รื้อถอนนำไปทำปะการังเทียมแล้ว และปัญหาที่เชฟรอนฯ ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ คือ ในส่วน 142 แท่น ที่ตกลงกับกระทรวงพลังงาน ไม่ได้ว่าจะต้องวางเงินรื้อถอนในสัดส่วนเท่าใด โดยเบื้องต้นเชฟรอนมองว่าแม้ใช้ประโยชน์มานาน 40 ปีแล้ว แต่ ปตท.สผ.ได้เข้าใช้ประโยชน์ต่อในการผลิต 10-20 ปี เพราะฉะนั้นสัดส่วนการจ่ายก็ควรจะน้อยที่สุด โดยค่ารื้อถอนต่อแท่น ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์/แท่น รวมแล้วค่ารื้อถอนทั้งหมดจะไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือรวม 48,000 ล้านบาท
ด้านบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ชี้แจงว่า ในเรื่องเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม นั้น บริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกันกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการส่งมอบสิ่งติดตั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ในแหล่งเอราวัณให้รัฐบาลอย่างปลอดภัยหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนปี 2565 ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมได้ระบุไว้ว่าผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเชฟรอนมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว และบริษัทฯ ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง
ที่ผ่านมาเชฟรอนประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งเอราวัณที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลปี 2565 ภายใต้ข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม และบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานอย่างรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในระยะยาวของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้วกว่า 5 ทศวรรษ.-สำนักข่าวไทย