กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – ทรู-ดีแทค เปิดพูดคุยความคืบหน้าควบรวม เชื่อ กสทช. ไม่มีอำนาจยับยั้ง แค่ออกเงื่อนไขแก้ข้อกังวลของประชาชน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการทรูคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมเกิดจากการที่ทั้งสององค์กรเห็นว่า ทั้งสององค์กรมีความสามารถการแข่งขันน้อยลง ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป การแข่งขันเปลี่ยนไป สองปีที่ผ่านมารายได้ของอุตสาหกรรมมือถือ ผู้ให้บริการมีรายได้ลดลงทุกราย ขณะที่การลงทุนสูงขึ้นเพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยี (รองรับ 5G) ทั้งหมดจึงทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง
“ศักยภาพที่ถดถอยกับระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปทำให้เรามองว่าการควบรวมจะทำให้การแข่งขันทำได้ดีขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้น เราพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง การควบรวมนี้จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แน่นอนว่ามันไม่ได้สมบูรณ์แบบในทันที แต่จะเป็นโอกาสที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการควบรวม
ประธานคณะผู้บริหารซีพี กล่าวอีกว่า การควบรวมจะไม่มีการไล่คนออก แต่เป็นการทำให้ศักยภาพของทรัพยากรบุคคลของทั้งสองบริษัทที่จะนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น ผลของการควบรวม ตัวบริษัท และใบอนุญาตประกอบกิจการยังอยู่เหมือนเดิม เราเป็นอีโคพาร์ทเนอร์ หรือเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มซีพีและเทเลนอร์ เป็นบริษัทไทยที่ตั้งมั่นในการวางระบบนิเวศทางเทคโนโลยีตามยุทธศาสตร์ชาติ
“กสทช. อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขที่ทุกคนเป็นห่วง งานวันนี้ไม่ใช่การกดดัน กสทช. จากการศึกษาของเรา กสทช. ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการ มีแต่เพียงการออกเงื่อนไขเพื่อคลายความกังวลของทุกภาคส่วน หากจะยังยั้งความร่วมมือครั้งนี้ต้องไปขออำนาจของศาลปกครอง เราจะอยากเห็นความร่วมมือเกิดขึ้นเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบกับตลาดทุนและผู้ถือหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดถึงบริการหรือสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับต้องล้าช้าตามไปด้วย ” นายศุภชัยกล่าว
นายซิคเว เบรคเก ซีอีโอ เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ความร่วมมือใรการควบรวมจะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริษัทเทคเทเลคอมใหม่ โดยเป็นความร่วมมือที่เป็นความตั้งใจในการส่งมอบระบบนิเวศที่ดีให้กับประเทศไทย บริษัทใหม่นี้ เป็นความร่วมมือในการบริหารระหว่างซีพีและเทเลนอร์
สาระสำคัญของความร่วมมือยังนำไปสู่ การตั้งกองทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,300 ล้านบาทในการ ตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอพั การตั้งศูนย์บ่มเพาะเทคเทเลคอม และการทำตลาดร่วมกันพันธมิตร สิ่งที่จะเทเลนอร์ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือนี้ คือการพัฒนา เทคโนโลยี 5G IOT , Edge Could และ Security
“ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีโอกาสการเติบโต ประเทศไทยยังคงเป็นดิจิทัลแชมป์เปียน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เราเห็นโอกาสว่าประเทศไทยเป็น สตาร์ติจิกโลเคชันในการทำธุรกิจโทรคมนาคม “นายซิคเว กล่าว .-สำนักข่าวไทย