กรุงเทพฯ 6 ก.ค.-ไทย-ซาอุฯ สร้างประวัติศาสตร์ เดินหน้าการค้าการลงทุนต่อเนื่อง หลังฟื้นความสัมพันธ์สู่ขั้นปกติ โดยวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดกิจกรรม Thai-Saudi Business Forum และ Business Matching เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย และมีการเซ็นเอ็มโอยูกันแล้ว 18 ฉบับ
ภายหลังที่ไทยและซาอุดีอาระเบียฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต และฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนำคณะภาครัฐและเอกชนเปิดสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย มีความคืบหน้าทั้งการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อหาลู่ทางในการทำการค้าระหว่างไทยกับซาอุเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดหอการค้ามณฑลริยาด ได้จัดทัพนักธุรกิจซาอุฯ จำนวน 93 รายจาก 74 บริษัท เดินทางมาเยือนไทยในระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค. 2565 เพื่อเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนไทย โดยมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้การต้อนรับ
สำหรับกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่จะมีการเจรจาและลงทุน ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรม โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวและบันเทิง ทองคำและอัญมณี การเกษตร ทรัพยากรมนุษย์ การแพทย์ อาหาร ผ้า แฟชั่นและเครื่องประดับ การเสริมความงาม การดูแลสุขภาพ การลงทุน การค้าอิเล็กทรอนิกส์ การบริหารโลจิสติกส์ น้ำหอมและเครื่องหอม ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ และการค้าปลีก
ทั้งนี้ กิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ครั้งนี้คือ การนำคณะธุรกิจซาอุฯ เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งอาหารฮาลาลถือเป็นสินค้าสำคัญของไทยที่จะเจาะตลาดซาอุฯ ได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ในวันนี้ 6 ก.ย. ที่ไอคอนสยาม ได้มีกิจกรรม Thai-Saudi Business Forum และ Business Matching เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจซาอุ จากนั้น 7 ก.ค. ก็จะมีการนำคณะนักธุรกิจซาอุฯ ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบันเทิงบินไปยัง จ.ภูเก็ต เพื่อเจรจาการค้าการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการทำการค้าระหว่าง 2 ประเทศ หลังที่ความสัมพันธ์ต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 32 ปี ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ระบุว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะมีการเซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างนักธุรกิจไทยกับซาอุดีอาระเบียไปแล้ว 18 ฉบับ
โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบียในปี 65 เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 64 ที่มีการส่งออกมูลค่า 51,500 ล้านบาท จากมูลค่าการค้าทั้งสองประเทศ 234,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไทยยังขาดดุลการค้ากับทางซาอุดีอาระเบียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องนำเข้าพลังงานจากซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ผ่านไปแล้ว 5 เดือน ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปขายยังซาอุดีอาระเบียได้ถึง 21,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตถึง 23% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เห็นว่าสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปยังซาอุฯ เพื่อทำรายได้เข้าประเทศมี 3 กลุ่ม คือ เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปซาอุฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, ผลิตภัณฑ์ยาง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รวมทั้งแรงงานมีฝีมือก็เป็นที่ต้องการของซาอุดีอาระเบีย ทั้งเรื่องภาคธุรกิจและโรงแรม
ขณะที่สินค้าไทยนำเข้าจากซาอุฯ 5 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันดิบ, เคมีภัณฑ์, ปุ๋ยและยาจำกัดศัตรูพืชและสัตว์, น้ำมันสำเร็จรูป, สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์.-สำนักข่าวไทย