กรุงเทพฯ 5 ก.ค.- รมว.ทส. เผยเร่งขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศ หวังให้ไทยหลุดจาก 1 ใน 10 ของประเทศที่มีปัญหาปริมาณขยะพลาสติกในทะเล ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า กำลังเร่งขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573 ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับจากการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยเรื่อง More than 1000 rivers account for 80% of global riverine plastic emission into the ocean ของ Lourens J.J. Meijer และคณะ ในปี 2564 แสดงให้เห็นว่า อันดับของประเทศไทยในด้านการจัดการขยะพลาสติกในทะเลดีขึ้น โดยเลื่อนอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดของโลกลงมาอยู่อันดับที่ 10 จากปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 6 เนื่องจากสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 25,284 ล้านใบ หรือคิดเป็นน้ำหนัก 228,820 ตัน ซึ่งตนเองมุ่งมั่นจะทำให้ไทยพ้นจาก Top Ten นี้ให้สำเร็จโดยเร็ว


สำหรับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 มีวิสัยทัศน์เพื่อก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วย 2 เป้าหมาย 3 มาตรการคือ เป้าหมายที่ 1 การลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย (พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และแก้วพลาสติก) ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรการที่ 1 ลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด มาตรการที่ 2 ลดเลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค และมาตรการที่ 3 จัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค
นายวราวุธ กล่าวถึงการแก้ปัญหาขยะทะเลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการบริหารจัดการขยะทะเล โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน เพื่อลดปริมาณขยะที่สะสมอยู่ในระบบนิเวศในทะเลนั้น ซึ่งเป็นปลายทางของขยะพลาสติก โดยการจะบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกทะเลมากที่สุดในโลกจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย
นายโสภณ ทองดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากสถิติการเก็บขยะชายหาดและขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลของหน่วยงานกรม ทช. ที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดปี 2564 พบปริมาณขยะ 1,427,831 ชิ้น เมื่อคัดแยกตามแบบฟอร์ม ICC Card พบขยะส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก เรียงลำดับดังนี้ (1) ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) (2) ถุงพลาสติกอื่น ๆ (3) เศษโฟม (4) ขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) (5) ถุงก๊อบแก๊บ (6) ห่อ/ถุงอาหาร (7) เศษพลาสติก (8) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ (9) กระป๋องเครื่องดื่ม (10) กล่องอาหารโฟม

กรมทช. ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยขยะปากแม่น้ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดและปริมาณของขยะจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลจาก 5 แม่น้ำสายหลัก ประกอบด้วย 1) แม่น้ำเจ้าพระยา 2) แม่น้ำบางปะกง 3) แม่น้ำท่าจีน 4) แม่น้ำแม่กลอง และ 5) แม่น้ำบางตะบูน ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าว สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการจัดทำกฎ มาตรการและนโยบายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันได้จัดทํามาตรการลดปริมาณขยะทะเลตามหลักวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอยและขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสัตว์ต่าง ๆ และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง.-สำนักข่าวไทย