กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – ธปท.สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงจากภาวะต้นทุนธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ภาคธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังผ่อนคลายเปิดประเทศมากขึ้น และกังวลโควิดลดลง
และผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สามารถสรุปสาระสำคัญของผลสำรวจได้ดังนี้
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI)* พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งภาวะปัจจุบันและในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงจากภาวะต้นทุนธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันด้านราคาที่อาจมีมากขึ้นในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากภาวะราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพหลายรายการปรับสูงขึ้น ตามต้นทุนและค่าขนส่ง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคปรับลดความถี่ในการใช้บริการลงด้วย ส่วนการฟื้นตัวของธุรกิจในภาคการค้า ธุรกิจส่วนใหญ่มีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน สินค้า และเงินทุน เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าหลังการเปิดประเทศ ธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินกำลังซื้อไตรมาส 2/2565 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย โดยสำรวจจากผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอี จำนวน 352 ราย ระหว่างวันที่ 1-24 มิถุนายน 2565 พบว่าในเดือนมิถุนายน 2565 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยปัญหาการขนส่งและขาดแคลนชิ้นส่วนในภาคการผลิตบรรเทาลงบ้างหลังจากเซี่ยงไฮ้กลับมาเปิดเมือง ส่วนการฟื้นตัวของภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดที่น้อยลง
กำลังซื้อที่อ่อนแอเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวม ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นกดดันกำลังซื้อ ปัญหาการขนส่งยังไม่กลับสู่ระดับปกติที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกของภาคการผลิตในครั้งก่อนเริ่มคลี่คลายลง
แต่ปัญหาด้านอุปทานทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบและราคาที่สูงขึ้น กลายเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นของธุรกิจภาคการผลิตในเดือนนี้ สำหรับธุรกิจในภาคที่มีใช่การผลิต แม้ความกังวลต่อปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดลดลง แต่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับ 2 ที่กดดันให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด
จำนวนและรายได้เฉลี่ยของแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจ โดยธุรกิจส่วนใหญ่ลดการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์มีการให้พนักงานใช้วันลาประจำปีเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากกิจกรรมก่อสร้างบางส่วนชะลอลงจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นมาก.-สำนักข่าวไทย