นนทบุรี 24 มิ.ย.-กระทรวงพาณิชย์ จับมือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ช่วยผู้ประกอบการไทยยุติปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศผ่านบริการระงับข้อพิพาททางเลือก
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก นำกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทย ช่วยยุติปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไทยในต่างประเทศเชิงรุกและตรงจุด ล่าสุดได้บูรณาการความร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ประสบปัญหาถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและโดเมนเนมในต่างประเทศ สามารถใช้บริการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution : ADR) ของ WIPO ได้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยสะดวก ได้รับบริการระงับข้อพิพาทที่เป็นมาตรฐานสากล และสามารถยุติปัญหาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลามากกว่าการใช้กระบวนการทางศาลในต่างประเทศ
“บริการ ADR เป็นทางเลือกในการยุติข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ มีกระบวนการระงับข้อพิพาท อาทิ การเจรจา การไกล่เกลี่ย การประนอมข้อพิพาท และ
การอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถเลือกผู้ทำหน้าที่ตัดสินที่เหมาะสมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่างๆ ในการระงับข้อพิพาท รวมทั้งเลือกกฎหมายที่จะนำมาปรับใช้ ภาษา และสถานที่ที่จะใช้ดำเนินกระบวนการ ADR โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ประสานให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะผลักดันให้ข้อพิพาทยุติลงโดยเกิดประโยชน์สูงสุดและรักษาข้อมูลความลับทางธุรกิจ”นายสินิตย์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทนจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ Mr. Marco Alemán ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจผ่านระบบออนไลน์ข้ามประเทศ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ร่วมด้วยสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันอนุญาโตตุลาการ สมาคมธนาคารไทย สำนักงานส่งเสริมการค้าและสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ นับเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือในการให้บริการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งต่อยอดจากความร่วมมือเดิมที่มีอยู่กับสถาบันอนุญาโตตุลาการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศต่อไป.-สำนักข่าวไทย