นนทบุรี 24 มิ.ย.-กรมการค้าภายในอนุมัติให้สินค้าปุ๋ยเคมีทุกสูตรปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง หลังเจอพิษสงคราม 2 ประเทศที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบ 100% ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังไม่อนุมัติ แต่หากสินค้าใดกระทบมากปล่อยให้ขึ้นได้บ้างเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ พร้อมจับมือหอการค้าไทย เจรจาผู้ซื้อจากซาอุดีอาระเบียกว่า 100 ราย นำเข้าปุ๋ยราคาพิเศษเพิ่มอีกรวม 3 ราย กว่า 8 แสนตัน ช่วยเกษตรกรไทย
นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าภายในได้อนุมัติให้กลุ่มสินค้าปุ๋ยเคมีทุกสูตรปรับราคาขึ้น ณ หน้าโรงงานตามต้นทุนที่แท้จริง หลังจากกลุ่มสินค้านี้ถือว่าเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมา 100% ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน โดยรัสเซียเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีค่อนข้างมาก และยังได้รับผลกระทบด้านอื่น ๆ อีก ดังนั้น กรมฯ จึงเห็นว่ากลุ่มสินค้านี้ได้รับผลกระทบจริงและมากพอควร จึงได้อนุมัติให้ปรับราคาสินค้าปุ๋ยเคมีขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่สินค้าอุปโภคและบริโภคอื่น ๆ ที่ขอปรับราคาสินค้าขึ้น กรมฯ ยังไม่มีการให้ปรับขึ้นแต่อย่างใด โดยเห็นว่าแม้ต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ จะขยับขึ้นไปบ้าง แต่เมื่อวิเคราะห์ชนิดสินค้าออกมาได้ยังไม่สูงขึ้นไปมาก จึงขอให้ตรึงสินค้าต่อไปก่อนเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในมีการติดตามราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอย่างใกล้ชิด หากสินค้าชนิดใดพอที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ก็จะขอให้ตรึงไปก่อน แต่หากสินค้ารายการไหนแบกรับไม่ไหวก็จะอนุมัติให้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานไม่เอารัดเอาเปรียบกันและกัน
ทั้งนี้ ส่วนประเด็นค่าการกลั่นน้ำมันที่มีหลายคนยังสับสนบทบาทหน้าที่ของกระทรงพาณิชย์นั้น โดยนายกรัฐมนตรีท่านได้ลงมาบริหารจัดการเอง ซึ่งจะมีคณะทำงานมาดูแลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานโดยเฉพาะ และเรื่องค่าการกลั่น ค่าการตลาด อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน เพราะมีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจอยู่หลายฉบับที่มีความชัดเจน รวมทั้งมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ระบุชัดเจนด้วยว่าเป็นอำนาจหน้าที่ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้แปลว่าจะตัดภาระความรับผิดชอบ แต่การบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างจะสั่งการอะไรได้ ดำเนินการอะไรได้ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนไหนที่กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจมีหน้าที่ยินดีที่จะดำเนินการและขณะนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เช่น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับกระทรวงพาณิชย์ชัดเจน ตราบเท่าที่เขาไม่มีกฎหมายเฉพาะของเขาเอง เช่น กรณีของการกำหนดให้การขายปลีกน้ำมันต้องมีการติดป้ายแสดงราคาไว้ที่หน้าปั๊มน้ำมัน และในเรื่องของการจ่ายน้ำมันที่หัวจ่ายที่ปั๊มน้ำมัน ถือเป็นเครื่องชั่งตวงวัดประเภทหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปตรวจดูแลไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ถ้าพบจะดำเนินการตามกฎหมาย เช่น หัวจ่ายไม่ตรง ก็จะมีความผิดซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เหลือภารกิจกำหนดว่าการขายปลีกต้องปิดป้ายแสดงราคาที่ปั๊มน้ำมันและภารกิจตรวจหัวจ่ายให้ตรง ห้ามโกงประชาชน ถ้าใครสงสัยปั๊มน้ำมันปั๊มนี้หัวจ่ายไม่ตรง แจ้งสายด่วน 1569 ได้ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งมีการตรวจหัวจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งกรณีที่นายกรณ์ หัวหน้าพรรคกล้าออกมาระบุกระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายดูแลค่าการกลั่นได้นั้น ตนได้ชี้แจงไปแล้ว แต่เรื่องคุณกรณ์จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ตนไม่ไปประเมินเพราะตนได้ชี้แจงอธิบายชัดเจนหลายครั้งแล้ว แต่ตอนหลังดูเหมือนจะเปลี่ยนประเด็นไปแล้ว คือเรื่องของการที่จะบอกว่าการกำหนดค่าการกลั่นเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ ดูเหมือนจะไม่พูดแล้ว แต่ไปพูดว่าของแพงหรือราคาสินค้าเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์แทน
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ปฏิเสธถ้าในเรื่องของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในอำนาจกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ดูแลมาตลอด ยกเว้นค่าการกลั่นซึ่งไม่ใช่ภารกิจที่กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจ แม้อยากทำก็ไปสั่งไม่ได้ เพราะโรงกลั่นคงไม่ฟังกระทรวงพาณิชย์ เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และอาจเป็นการทำผิดกฎหมายด้วย
นายจุรินทร์กล่าวภายหลังประชุมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสที่คณะนักธุรกิจซาอุดีฯ เดินทางเยือนไทย โดยเป็นการประชุมหารือเป็นกรณีพิเศษในการนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้เชิญภาคเอกชนมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมการนำเข้าปุ๋ยอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากท่านนายกรัฐมนตรีนำคณะภาครัฐและเอกชนเปิดสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียมีความคืบหน้า ทั้งการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย จากนี้ไป จะเป็นกิจกรรมเชิงลึกด้านการค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปกติประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดคือ บริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) ซึ่งมีผลผลิตปุ๋ยยูเรียปีละ 2.2 ล้านตันต่อปี และประเทศไทยเป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัท ข่าวดี ขณะนี้ทางการซาอุดีอาระเบียเปิดโอกาสให้บริษัทที่ผลิตปุ๋ยของซาอุฯ อีก 2 บริษัทสามารถเจรจาขายปุ๋ยให้กับประเทศไทยได้ จะมี 3 บริษัทใหญ่นอกจาก บริษัท SABIC จะมีบริษัท MA’ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และบริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ลำดับต้นของซาอุดีอาระเบีย ประเทศไทยมีการรวบรวมตัวเลขผ่านสภาหอการค้าและสมาคมการค้าปุ๋ยไทย เบื้องต้นมีความประสงค์ซื้อปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียรวม 8 แสนตัน เป็นยูเรีย 5.9 แสนตัน ปุ๋ยฟอสเฟต 1.93 แสนตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม 2.5 หมื่นตัน และในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัด Business Matching จับคู่ธุรกิจให้มีการพบกันระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ 3 รายของซาอุฯ กับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทยทั้งหมดที่สนใจ ช่วยให้การเจรจาซื้อปุ๋ยจากซาอุฯ เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาทั้ง 2 ข้อ 1. ให้ประเทศไทยมีปริมาณปุ๋ยพอใช้สำหรับเกษตรกร มีหลักประกันมากขึ้นเพราะมีแหล่งนำเข้าพิเศษเพิ่มเติม และ 2. เรื่องของราคาให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเจรจาหวังว่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเป็นกรณีพิเศษจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันต่อไป
นอกจากนี้ ภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียจะเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยมีหอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตอบรับกิจกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกันในช่วง วันที่ 4-6 ก.ค. 65 สำหรับกระทรวงพาณิชย์ จะจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจให้ระหว่างผู้นำเข้าของซาอุดีอาระเบียที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 100 ราย และผู้ส่งออกไทยร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 120 ราย ที่ห้างไอคอนสยาม เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างกัน หวังว่าจะเพิ่มยอดตัวเลขการส่งออกของไทยไปซาอุฯ มากขึ้น ซึ่งจะมีสินค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งสาขาโทรคมนาคม ไอที ท่องเที่ยว อัญมณี อาหาร เสื้อผ้า แฟชั่น สุขภาพความงาม และบริการโลจิสติกส์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย