กรุงเทพฯ 21 มิ.ย.-ปตท.สผ.ปิดซ่อมบำรุงเอราวัณเพื่อพร้อมเร่งแผนผลิต สำรองก๊าซเพียงพอไม่ขาดแคลน ด้าน กรมเชื้อเพลิงฯ เจรจามาเลเวียขอใช้ก๊าซเจดีเอเพิ่ม ได้รับความร่วมมือ ผลดี ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง 2 พันล้านบาท ด้านกลุ่ม ปตท. พร้อมให้ความร่วมมือรัฐเฉือนค่าการกลั่นช่วยประชาชน แต่ขอให้อยู่บนหลักการที่เหมาะสมอธิบายผู้ถือหุ้นได้
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(ปตท.สผ. อีดี) ในกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ได้ยื่นเรื่องขอปิดซ่อมบำรุงแหล่งเอราวัณ(G1/61) ระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย.นี้ ทยอยปิดซ่อมแหล่งผลิตย่อย 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเอราวัณแหล่งปลาทอง แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกำลังการผลิตก๊าซฯมากจนเกินไป
โดยในสัปดาห์นี้ จะปิดซ่อม 3 แหล่งผลิตย่อย คือ แหล่งเอราวัณ แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน กำลังผลิต หายไป 170 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเหลือก๊าซฯ ในแหล่งดังกล่าวประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากได้ปิดซ่อมแหล่งปลาทองไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ทาง ปตท.สผ.ประสาน บมจ.ปตท.นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาสำรองเพื่อทดแทนไว้ล่วงหน้าแล้ว และหลังจากวันที่ 27 มิ.ย.นี้ กำลังการผลิตทั้ง 4 แหล่งย่อยจะกลับมาผลิตได้ครบตามเดิมประมาณ 230-240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
อย่างไรก็ตามในช่วงปิดซ่อมบำรุงแหล่งปลาทอง กรมฯ ได้แก้ปัญหาโดยเจรจากับแหล่งผลิตก๊าซฯ ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) ขอรับก๊าซฯเพิ่ม ซึ่งเป็นช่วงที่มาเลเซียปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯ พอดี ทำให้มาเลเซียส่งก๊าซฯ มาที่ไทยได้เพิ่มขึ้นเป็น 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติเคยรับก๊าซฯ อยู่ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในราคา 4.11 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคาก๊าซ LNG Spot ที่ราคา 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเท่ากับประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 62 ล้านเหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท
สำหรับแหล่งบงกช(G2/61) ตามแผนจะปิดซ่อมบำรุง 16 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ก๊าซฯ หายไปจากระบบ 185 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง กรมฯ ได้เจรจากับมาเลเซีย เตรียมวางแผนบริหารจัดการก๊าซฯ ร่วมกัน โดยระบุว่าระหว่างที่มาเลเซียหยุดรับก๊าซฯ ไทยจะขอรับก๊าซฯ เพิ่มแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันและจะกำหนดแผนงานร่วมกันต่อไป
ส่วนการติดตั้งแท่นผลิตจำนวน 8 แท่นในแหล่งเอราวัณ ล่าสุดทาง ปตท.สผ. อีดี ทยอยติดตั้งแล้ว 2 แท่น ส่วนที่เหลือจะทยอยติดตั้งให้ครบในปีนี้ ขณะเดียวกันในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการระดมเจาะก๊าซ เพื่อเพิ่มระดับกำลังการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ คาดว่าปริมาณก๊าซฯ จะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 และจะกลับมาที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา PSC ในช่วงต้นปี 2567 ตามสัญญา PSC ปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็น 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
แหล่งข่าวจากบมจ.ปตท เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลเตรียมขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล การจัดเก็บค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน โรงแยกก๊าซ เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ทางกลุ่มปตท. พร้อมให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ แต่ต้องมีความชัดเจน และอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาปตท. ให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือกับประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ในขณะที่เดียวกัน กลุ่ม ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีนักลงทุนและ ผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และ ได้รับการสอบถามจากนักลงทุน โดยเฉพาะต่างประเทศเข้ามาถึงนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสามารถอธิบายได้
ส่วนแผนธุรกิจของปตท. ปัจจุบันยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ด้วยงบลงทุน 9.11 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุด บริษัทได้ลงทุนโรงงานผลิต EV ด้วยเงินลงทุน 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการ JV ระหว่าง Arun Plus 60% และ Foxconn 40% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินการผลิตได้ต้นปี 67 ที่ 50,000 คันต่อปี โดยโรงงานดังกล่าวอยู่ในนิคมภาคตะวันออกและ ปัจจุบันมีการซื้อที่ดินเพื่อเดินหน้าก่อสร้างไว้แล้ว .-สำนักข่าวไทย