จับตาพรุ่งนี้ กบน.ประกาศดีเซล 35 บาทหรือไม่

กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – พรุ่งนี้ กบน.หารือราคาดีเซลจะขยับขึ้นเป็น 35 บาท หรือไม่​ ในขณะที่ภาคประชาชนเสนอรื้อสูตรทั้งค่าการกลั่น-ราคาหน้าปั๊ม-แอลพีจี ด้านบางจากฯ รอนโยบายรัฐ แจงโรงกลั่นแต่ละแห่งต้นทุนแตกต่างกัน และราคาขายปลีกไม่ได้ผันแปรตามค่าการกลั่น


ผู้สื่อข่าว​รายงานว่า วันพรุ่งนี้ ​(13 มิ.ย.) นายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์​มี​เชาว์​ รอง​นาย​กรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม​คณะกรรมการ​บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ​(กบน.)​ หารือราคาดีเซลรายสัปดาห์ที่ทยอยขึ้น โดยหากอนุมัติขึ้นราคาก็จะไม่เกิน 1 บาท/ลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาแตะ 35 บาท/ลิตร ส่วนข้อเรียกร้องลดค่าการกลั่น​น้ำมันนั้น​ รมว.พลังงาน สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาทั้งแง่กฎหมาย และขอความร่วมมือโรงกลั่นลดค่าการกลั่นเป็นการชั่วคราว เพื่อหวังราคาหน้าปั๊มลดต่ำที่สุด ในขณะที่​เงินเฟ้อในไทยพุ่งต่อเนื่อง และกองทุนน้ำมันฯ ทำสถิติติดลบสูงสุดกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท และสถาบันการเงิน​ยังไม่อนุมัติปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ประชุมร่วมกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมกันหาทางออกด้านราคาพลังงานแพง ปรับโครงสร้างการคำนวณให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน โดยหารือทั้งเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และราคาน้ำมัน โดยทางนายกุลิศ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนฯ ไปพิจารณารายละเอียดทั้งหมด


ในส่วนของราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม ซึ่งในขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาที่ขึ้นถี่ แม้จะรับทราบกันดีว่าเป็นผลมาจากการปรับขึ้นของราคาตลาดโลก แต่เพื่อร่วมลดผลกระทบเป็นการชั่วคราว ทางกลุ่มฯ จึงเสนอภาครัฐให้พิจารณาขอความร่วมมือกับเอกชน ขอให้ผู้ค้าน้ำมันปรับหลักการคำนวณราคาขายปลีกหน้าปั๊มจากการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ 2 วันย้อนหลัง เป็น 14 วันย้อนหลัง

ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ได้เสนอให้ขอความร่วมมือชั่วคราว จำกัดค่าการกลั่นเป็นไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร เป็นการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติเท่านั้น เพราะจะเห็นได้ว่า ในช่วงไตรมาส 2/65 ค่าการกลั่นสูงถึง 5 บาท/ลิตร จากที่ไตรมาส 1/65 ได้ราว 1.00-2.00 บาท/ลิตร ซึ่งทางกลุ่มฯ เข้าใจถึงสถานการณ์การขาดทุนของโรงกลั่นน้ำมัน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ขาดทุนรวมกัน 3 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2564 เริ่มฟื้นตัวมีกำไร และปี 65 ก็มีกำไรสูงมาก ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ก็น่าจะมาแบ่งปันทุกข์และสุขกับประชาชนร่วมกัน

ส่วนที่โรงกลั่นฯ ระบุว่า จำเป็นต้องใช้กำไรเพื่อลงทุนด้านการปรับปรุงโรงกลั่นฯ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่ดีขึ้น ดูแลสิ่งแวดล้อม ตามข้อกำหนดมาตรฐานยูโร 5 ในปี 2567 ทางกลุ่มฯ ได้เสนอขอให้รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อน เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และหากเทียบมาตรฐานน้ำมันในอาเซียนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มาตรฐานไทยสูงกว่าอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเร่งเป็นยูโร 5


“ช่วงนี้การดูแลปากท้องประชาชนน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และบ้านเราน้ำมันผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ ก็ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น ก็น่าจะเลื่อนบังคับใช้ยูโร 5 ไปก่อน ต้นทุนเหล่านี้ล้วนมาส่งต่อให้ประชาชนทั้งสิ้น และภาวะวิกฤติเช่นนี้ก็น่าจะทบทวนโครงสร้างราคาพลังงานทั้งหมด และในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีก็ดูเรื่องค่าการกลั่น มีการเก็บภาษีลาภลอย นำมาช่วยประชาชน” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

ส่วนเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณะทำงานเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม (ภาคประชาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ เสนอให้ยกเลิกโครงสร้างราคาในปัจจุบัน และย้อนกลับไปใช้โครงสร้างราคาช่วงการปฏิวัติ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ใช้ราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และให้ยกเลิกสูตรราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติกส์ ณ ปัจจุบัน และให้กำหนดราคา ร้อยละ 24 ของราคาโรงแยกที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน + ร้อยละ 76 ของราคาตลาดโลก (CP) ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ส่วนที่มีการนำเข้า ให้อ้างอิงราคาตลาดโลก (CP) + ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า โดยมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 23 พฤษภาคม 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เริ่ม 1 เมษายน 2551 ตามเดิม พร้อมทั้งควรกำหนดราคาจัดหา ณ คลังก๊าซใหม่ เฉลี่ยราคาแบบถ่วงน้ำหนักจากแหล่งผลิต

“จากการแก้ไขโครงสร้างราคาแก๊สหุงต้ม หรือ LPG มาเป็นอัตราปัจจุบัน ทำให้คนไทยต้องใช้ก๊าซหุงต้มในราคาตลาดโลกบวกค่าใช้จ่ายสมมติว่านำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ทั้งที่หากย้อนข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพลังงาน ปี 2564 ประมาณการผลิตก๊าซหุงต้มได้มากจากโรงแยกก๊าซ ประมาณ 54% และผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันประมาณ 37% นำเข้าเพียง 9% เราสามารถผลิตได้เองในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ราคาขายปลีกที่อ้างอิงราคาตลาดโลกเป็นการสร้างภาระให้ประชาชน และกองทุนน้ำมันฯ ต้องนำเงินจากผู้ใช้นำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้นประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2565)” นายปานเทพ กล่าว

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากกระแสลดค่าการกลั่นฯ จะเห็นได้ว่ามีแรงขายทำกำไรหุ้น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ค่าการกลั่นล่าสุดย่อตัวลงมาอยู่ที่ 20.24 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากที่ขึ้นไปสูงสุดที่ 25.03 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (เมื่อ 3 มิ.ย.65) ซึ่งการที่เซี่ยงไฮ้ของจีนกลับมาล็อกดาวน์บางส่วน เริ่มตั้งแต่ 11 มิ.ย. ก็คาดว่าดีมานด์น้ำมันจะลดลงรับผลกระทบระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำ “ซื้อ” TOP และ SPRC เนื่องจากค่าการกลั่นเฉลี่ยในไตรมาส 2/65 ยังคงสูง โดยปัจจุบันเฉลี่ยที่ 20.30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 8.05 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า โอกาสลดค่าการกลั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในอดีตมีความพยายามปรับปรุงค่าการกลั่นหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเป็นแบบเสรี และกรณีมีการปรับปรุงไม่สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก อาจทำให้โรงกลั่นหันไปส่งออกแทน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่ม BCP เปิดเผยว่า คงต้องรอดูมาตรการของภาครัฐที่จะออกมาก่อน ว่าจะมีการปรับลดค่าการกลั่นลงหรือไม่ ปัจจุบันตลาดน้ำมันในประเทศไทยเป็นตลาดเสรี ใช้กลไกตลาดโลกที่มีดีมานด์และซัพพลาย แต่ในช่วงนี้ราคาพลังงานมีความผันผวน ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้โรงกลั่นฯ บางแห่งต้องปิดไป เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูป และล่าสุดจีนก็ไม่ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเช่นกัน ขณะเดียวกัน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้มาจากค่าการกลั่นของโรงกลั่นฯ แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ค่าการกลั่นของแต่ละโรงกลั่นฯ ก็แตกต่างกันออกไป บางโรงกลั่นน้ำมันหนักก็มีต้นทุนต่ำ ส่วนบางโรง เช่น บางจากฯ กลั่นน้ำมันเบา มีต้นทุนสูงกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาก็แตกต่างกันด้วย ทั้งเบนซิน ดีเซล LPG น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเตา แต่ละโรงจะมีค่าการกลั่นและราคาขายผลิตภัณฑ์ไม่เท่ากัน ค่าการกลั่นจึงเป็นกำไรขั้นต้น โดยต้นทุนทั้งหมดก็ต้องดูต้นทุนทุกด้าน บวกค่าบริหารจัดการ ค่าเสื่อม ค่าดอกเบี้ย เข้าไปด้วย

“ราคาพลังงานสูง หลายประเทศก็มีมาตรการดูแลแตกต่างกัน จีนห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ส่งผลให้ปริมาณในประเทศพอเพียง ไม่ขาดแคลน สุดท้ายก็สะท้อนมาที่ราคาขายปลีก ส่วนยุโรปอยู่ที่ระดับ 70-90 บาท/ลิตร ที่ผ่านมาบางจากฯ ได้ตรึงราคาน้ำมันและปรับขึ้นช้า รวมทั้งให้ส่วนลดราคาน้ำมัน เพื่อดูแลผู้บริโภคด้วย” นายชัยวัฒน์ ​กล่าว. – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ เดือด ส่งท้ายปี

ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ส่งท้ายปีนี้ การแข่งขันดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครต่างเร่งหาเสียงกันอย่างเต็มที่ โดยมีผู้สมัคร 4 คน ลงชิงชัย ไปติดตามบรรยากาศโค้งสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้คว้าชัย

ทอ.ส่ง F-16 ขึ้นบินป้องน่านฟ้า หลังมีอากาศยานไม่ทราบฝ่าย เหนือชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบิน เพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก

อุตุฯ เผยอีสาน-เหนือ อากาศหนาว กทม.อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย

กรมอุตุฯ เผยภาคอีสาน ภาคเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น

lightened Christmas tree in front of U.S. Capitol

รู้จัก “ชัตดาวน์” ของสหรัฐและผลกระทบ

วอชิงตัน 20 ธ.ค.- หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต้องปิดทำการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า กัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธันวาคม) ตามเวลาสหรัฐ หากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันเวลา หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณฉบับใหม่เมื่อวานนี้ สาเหตุที่เสี่ยงชัตดาวน์ ปกติแล้วรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด 438 แห่งก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภามักทำไม่ได้ตามกำหนดเวลา และมักผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ต่อไปในระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือกันเพื่อผ่านร่างงบประมาณจริง ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุเมื่อเข้าสู่เช้าวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเตรียมร่างกฎหมายที่จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2568 แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันลงมติไม่เห็นด้วย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณที่เสนอใหม่ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ก่อนที่ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุ ก็จะเกิดการชัตดาวน์ เพดานหนี้ที่ทรัมป์ต้องการให้แก้ นายทรัมป์ยังต้องการให้สมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาเรื่องการกำหนดเพดานหนี้ประเทศให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่อนุญาตให้รัฐบาลก่อหนี้ แต่เนื่องจากรัฐบาลมักใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สมาชิกรัฐสภาจึงต้องคอยแก้ปัญหานี้เป็นครั้งคราว รัฐสภาสหรัฐกำหนดเพดานหนี้สาธารณะครั้งแรกในปี 2482 โดยกำหนดไว้ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้ขยายเพดานหนี้แล้วทั้งหมด 103 […]

ข่าวแนะนำ

ฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ส่งสุขรับปีใหม่

ส่งความสุขรับปีใหม่ กับฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ศิลปินลูกทุ่งเกือบ 100 ชีวิต ร่วมโชว์จัดเต็ม

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

เด้ง ตร.จราจร ปมคลิปรับเงินแลกไม่เขียนใบสั่ง

ผบก.ภ.จว.นนทบุรี สั่งย้าย “รอง สว.จร.สภ.รัตนาธิเบศร์” เซ่นคลิปรับเงินแลกไม่ออกใบสั่ง พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใน 3 วัน ด้านเจ้าตัวอ้างไม่เห็นเงินที่วางบนโต๊ะในตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร