กทม. 10 มิ.ย. – วันนี้ นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานงานประชุมชี้แจงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินโครงการพื้นที่ชั้นใน (ถนนสาทรและถนนเจริญราษฎร์) โดยมีผู้แทนจากองค์กร และหน่วยงานภาคธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดแผนดำเนินงาน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งงานทั้งหมดจัดขึ้นภายใต้มาตรการคัดกรองโรค COVID-19 และการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK อย่างเคร่งครัด ณ โรงแรม Eastin Grand สาทร
นายฐิติวุฒิ กล่าวว่า ตามที่ MEA ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุด MEA จะดำเนินการก่อสร้างบนถนนสาทร (ช่วงถนนเจริญกรุง – ถนนพระราม 4) และถนนเจริญราษฎร์ (ช่วงถนนพระราม 3 – ถนนสาทร) รวมระยะทาง 7.4 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถรื้อถอนเสาไฟฟ้าได้ในปี 2567 โดย MEA จะดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 05.00 น. ของทุกวันเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อการจราจร
สำหรับการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน งานก่อสร้างฐานอุปกรณ์และติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า งานลากสายไฟฟ้าใต้ดิน และการเปลี่ยนระบบการจ่ายไฟจากสายอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและหน่วยงานเอกชนในพื้นที่ในอนาคต รวมถึงช่วยเสริมสร้างทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม ตลอดจนช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้แสดงความคิดเห็น พร้อมให้ข้อมูลสำคัญ เพื่อให้ MEA ได้นำมาพิจารณาปรับปรุงแผนงานให้มีความเหมาะสม และส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 215.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยล่าสุดมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 55.7 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่บางส่วนของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และสว่างอารมณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 159.9 กิโลเมตร เช่น โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน. – สำนักข่าวไทย