กฟผ. 9 มิ.ย.-รมว.พลังงาน เร่งหาทางลด “ค่าการกลั่น” ใช้ทั้งช่องทางกม.-ขอความร่วมมือ เพื่อลดราคาน้ำมัน ย้ำช่วยคนใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ไม่ขึ้นราคา หารือ “แบงก์ชาติ-คลัง-สภาพัฒน์” รับมือราคาน้ำมันแพงยาวนาน ร่วมสกัดเงินเฟ้อ จ่อ คุย ปตท.ร่วมมือเพิ่มพยุงค่าไฟฟ้า
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ในขณะนี้รัฐบาลกำลังหารือทุกภาคส่วนเพื่อลดค่าครองชีพ ด้วยการหาแพกเกจใหม่ในการลดราคาพลังงาน หลังราคาสูงยืดเยื้อ ท่ามกลางภาะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี แตะร้อยละ 7.1 ในเดือน พ.ค.65 ในขณะที่มาตรการดูแลราคาพลังงานบางส่วนจะหมดลงในเดือน มิ.ย.นี้ ดังนั้น แพ็กเกจใหม่จะสรุปได้ก่อนสิ้นเดือนนี้ โดยในส่วนของค่าไฟฟ้านั้น มีนโยบายชัดเจนว่า แม้ต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65 )จะขยับอีก แต่รัฐบาลจะดูแลสำหรับประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าจะไม่ขยับขึ้น โดยคงราคาเท่าเดิมจ่ายเท่ากับงวดที่ 1/2565 (ม.ค.-เม.ย.) ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากที่งวดที่ 2/2565 (พ.ค.-ส.ค.) กลุ่มนี้ยังจ่ายเท่าเดิมเช่นกัน
ส่วนเรื่องราคาดีเซลนั้นเป็นเรื่องกระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศและมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น ในขณะนี้จึงดูทุกแนวทางว่าจะเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร โดยตามที่มีผู้เสนอให้ลดค่าการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นฯ เพราะค่าการกลั่นสูงมาก โดยที่ผ่านมาไทยใช้นโยบายตลาดน้ำมันเสรีมาโดยตลอด แต่จากผลกระทบประชาชนรอบนี้ยาวนาน และค่าการกลั่นสูงยาวนานโรงกลั่นมีกำไร กระทรวงพลังงานจึงดำเนินการทั้งขอความร่วมมือโรงกลั่นลดค่าการกลั่น ควบคู่กับการใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลว่าจะทำให้ลดค่าการกลั่นได้หรือไม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ราคาน้ำมัน ลดลง ได้แก่ กฏหมายของกระทรวงพาณิชย์ กฏหมายสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และกฏหมายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีความชัดเจนในเดือนนี้เช่นกัน
“การลดค่าการกลั่นก็จะเป็นแนวทางหนึ่งช่วยลดราคาน้ำมัน แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ด้วยการค้าเสรี หากเราทำให้ราคาขายในประเทศลดลง แล้วโรงกลั่นฯจะหันไปส่งออกจนกระทบปริมาณในประเทศหรือไม่ ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งการขอความร่วมมือและการใช้ข้อกฏหมายควบคู่กันไป ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น รัฐบาลประคับประคองด้วยการใช้กลไกต่างๆมาดูแลทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้มและอื่นๆ ราคาในไทยถูกกว่าเพื่อนบ้าน จนเกิดปัญหาที่เพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มต้ำมัน เข้ามาใช้พลังงานในไทยตามตะเข็บชายแดน ในขณะที่ไทยใช้เงินดูแลราคาพลังงานเพื่อประชาชนไปกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว แต่เมื่อราคาพลังงานสูงยาวกว่าที่คาด ทั้ง ก.พลังงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง จะมีการประชุมร่วมกันในเร็วๆนี้ ว่าจะเดินหน้าดูแลกันต่อไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ต้องขอความร่วมมือประชาชน ประหยัดพลังงานกันอย่างต่อเนื่องและเป็นจริงเป็นจังในทุกๆด้าน ที่ผ่านมารัฐบาลทำเต็มที่แล้วก็เป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องร่วมมือกัน
ส่วนกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมแบกรับภาระค่าไฟฟ้า FT เป็นมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ ครม. อนุมัติให้ กฟผ.กู้เงินเสริมสภาพคล่องเพียง 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า หาก กฟผ.จะกู้เพิ่มก็สามารถเสนอ ครม.เพื่อกู้ได้อีก เพราะในภาวะเช่นนี้ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมมือกัน
“ภาวะดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ขึ้นทั่วโลก ปัญหาขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ไม่ได้เกิดที่ไทยที่เดียว จะกระทบการลงทุนอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่นักลงทุนเค้ามองเค้าหาจังหวะโอกาสอยู่แล้ว หากประเทศใดมีเสถียรภาพทุกด้านที่ดี มีโอกาส มีสภาพคล่องที่ดีก็จะไปประเทศนั้น ในส่วนบ้านเรา แบงก์ชาติ ,คลัง,สภาพัฒน์ ก.พลังงานก็จะมาดูร่วมกัน ว่า สงครามยูเครน-รัสเซียยืด เยื้อ แล้วจะทำให้ราคาพลังงานทรงตัวระดับสูงจะไปนานเท่าใด เราจะจัดการอย่างไรก็ต้องหาคำตอบ”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของดีเซลที่หากดูมาตรการคนละครึ่งแล้ว ราคาจะต้องสูงกว่า 36 บาท/ลิตร แต่ทางกระทรวงพลังงานมีความชัดเจนว่าจนถึงสิ้นเดือนนี้ ราคาจะไม่สูงกว่า 35 บาท/ลิตร จากที่ราคาในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 34 บาท/ลิตร ส่วนในเดือนถัดไป ราคาจะขยับอย่างไร ก็ขึ้นกับแพกเกจใหม่ในการเข้ามาดูแล โดยในส่วนของการดูแลค่าไฟฟ้านั้น ก็คงจะต้องขอความร่วมมือ บมจ.ปตท.เข้ามาดูแลร่วมเพิ่มเติมกับ กฟผ.จากที่ขณะนี้ ปตท.ได้ร่วมลดภาระ ยืดหนี้การจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติ เดือน พ.ค. มูลค่า 1.3 หมื่นเป็นเวลา 3-4 เดือน .-สำนักข่าวไทย